บล.ทิสโก้ชี้ หุ้นไทยอาจผันผวนในขาลงจนถึงสิ้นปี เพราะขาดปัจจัยหนุนแถมมีปัจจัยลบทั้งภายในประเทศและนอกประเทศกดดัน ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า การปรับเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่แรงตามคาด ภาวะสงคราม และความกังวลประเด็นขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นโอกาสการสะสมหุ้นเพื่อลงทุนระยะกลางถึงยาว
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นแนวโน้มแกว่งไซด์เวย์ดาวน์ต่อไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยขับเคลื่อนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศที่กดดันหุ้นไทย ประเด็นแรก คือ กรอบเวลาการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่อาจล่าช้าถึง 6 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจประมาณ 0.2-0.8% ต่อไตรมาส หลัก ๆ มาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงโดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านลงทุน อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมทั้งปีอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเชื่อว่ารัฐจะเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณชดเชยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567
ประเด็นที่สองคือ โครงการการแจกเงินดิจิทัลส่อแววล่าช้าไม่ทันแจก 1 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจาก 1. รัฐบาลปรับแผนแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินบางส่วนจากธนาคารออมสินมาเป็นการใช้เงินงบประมาณแบบผูกพัน และ 2. ต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบรองรับ ดังนั้นการแจกเงินดิจิทัลน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนเมษาถึงพฤษภาคม นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มจะปรับเกณฑ์ผู้ได้รับเงินดิจิทัลมาเป็นเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มองในแง่ดีคือช่วยลดภาระเงินงบประมาณที่จะใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว แต่มองในอีกมุมหนึ่ง ผลกระทบเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าก็จะน้อยไปจากเดิม เพราะฉะนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตทะลุระดับ 4% ก็เป็นไปได้น้อย
ด้านปัจจัยภายนอกประเทศที่กดดันหุ้นไทยในช่วงนี้ มี 2 ประเด็น คือ 1. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10Y US Bond Yield) ที่ขึ้น 6 เดือนติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดที่ 5% แม้ล่าสุดจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว แต่ยังทรงตัวในระดับสูงสุดรอบ 16 ปี หลัก ๆ เป็นผลจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงสงวนท่าทีการใช้นโยบายดอกเบี้ยในระดับสูงนาน (Higher for Longer) ทำให้โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นในการประชุมเดือน ธ.ค. ยังคงมีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับ Dot Plot และ 2. สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสส่อแววยืดเยื้อ หลังจากที่อิสราเอลยกระดับการบุกภาคพื้นดิน ยังเป็นปัจจัยถ่วงของตลาดการเงินและการลงทุนต่อไป
นายอภิชาติกล่าวอีกว่า แม้ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะยังผันผวนและไม่สดใสนัก แต่ในแง่ของการประเมินมูลค่าในหลายแง่มุมดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบันเหมาะสำหรับสะสมเพื่อการลงทุนระยะกลาง-ยาว จากการประเมินมูลค่าที่น่าสนใจมาก เช่น อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นปี 2567 (Forward P/E) อยู่ที่ประมาณ 14 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ประมาณ 17 เท่า หรืออยู่ที่ -1SD และในแง่ของอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (PBV) นอกจากจะปรับตัวลงมาแตะระดับ -1SD ของค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว ระดับ PBV ที่ 1.3-1.4 เท่าในปัจจุบันยังเป็นระดับที่มีนัยสำคัญ เพราะเป็นเส้นแนวโน้ม PBV ขาขึ้นในระยะยาวที่เคยผ่านวิกฤติมาแล้วถึง 3 ครั้ง คือ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540, วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 และวิกฤติ COVID-19 ที่บริเวณ 0.5-0.6 เท่า, 0.8-0.9 เท่า และ 1.2-1.3 เท่า ตามลำดับ
ด้านหุ้นแนะนำในเดือน พฤศจิกายน เราเลือกหุ้นที่คาดงบไตรมาสนี้จะเติบโตและมีปัจจัยบวกเฉพาะ อาทิ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีต่อเนื่อง - AOT, BDMS หุ้นที่มีเงินปันผลจ่ายสูง - DMT, MAJOR, MC, TASCO และหุ้นที่ราคาปรับตัวลงหนักคาดหวังรีบาวด์จากจุดต่ำ (Bottom Fishing) - CPAXT เพราะฉะนั้น หุ้นเด่นที่เราแนะนำในเดือน พฤศจิกายน คือ AOT, BDMS, CPAXT, DMT, MAJOR, MC และ TASCO ด้านแนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้อยู่ที่ 1,360, 1,340 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,300-1,310 จุด และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ และ 1,400 จุด และ 1,420 จุด ตามลำดับ