ความคิดสร้างสรรค์และการเพิ่มมูลค่าเป็นสิ่งที่มาคู่กันเมื่อพูดถึงนวัตกรรม และเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกต่างผลักดัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาความสามารถของคนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีช่องว่างอีกมากที่ทำให้ความความคิดสร้างสรรค์ของนวัตกรยังไม่ตอบโจทย์การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้เต็มที่
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) โดยคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ (SoDA) จึงจัดเสวนา "นวัตกรรมการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า" (Design Innovation and Creative Business Value Added) ในโอกาสครบรอบ 53 ปี ของ ม.ศรีปทุม เพื่อร่วมหาคำตอบและแชร์แนวคิดการแก้ปัญหาให้กับนักศึกษา คนทำงาน และประชาชนทั่วไป ผ่านวิทยากรที่มีองค์ความรู้และความสามารถด้านนวัตกรรมและการออกแบบ 4 ท่าน ได้แก่ "ปัทมาวดี พัวพรหมยอด" Innovative Counselling Manager สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) องค์กรที่ส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม, "กัลยา โกวิทวิสิทธิ์" ผู้ร่วมก่อตั้ง FabCafe Bangkok ดิจิทัลครีเอทีฟฮับ, "นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์" ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง RISE องค์กรที่มีพันธกิจจะเพิ่ม 1% GDP ให้กับประเทศไทย, และ "จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์" กรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด ผู้สร้างเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดีสวัสดิ์ (DEESAWAT) ด้วยนวัตกรรมความคิด พร้อมกับ "ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์" คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย
หนุนไทยสร้างบุคลากรตอบโจทย์ Creative Economy
"ปัทมาวดี พัวพรหมยอด" Innovative Counselling Manager สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม โดยการสร้างนวัตกรรมต้องมีพื้นฐานของศิลปะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้น ซึ่งศิลปะไม่ใช่การออกแบบแค่ภาพลักษณ์ แต่เป็นการออกแบบที่เข้าถึงจิตใจของคนหรือผู้ใช้งานจริง ๆ
"ไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่จะมารองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องพัฒนาทุนมนุษย์ เหมือนหลายประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก จึงกลายมาเป็นโจทย์สำหรับไทยในการเพิ่มความเข้มข้นตั้งแต่ภาคการศึกษา โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า หลายสถาบันการศึกษามีการปรับหลักสูตรการออกแบบ ให้มีการผสมผสานหลายองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก"
ซึ่งการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาไทยพร้อมก้าวสู่การเป็นบุคลากรสร้างสรรค์คุณภาพในอนาคต ก็เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ NIA ในฐานะหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีหน้าผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกันใน 6 มาตราการ คือ 1. ให้หน่วยงานราชการเป็น sandbox ทดสอบสินค้านวัตกรรมสร้างสรรค์ 2. ผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้งานวิจัยมากขึ้น 3.หาตลาดทุนและหาเงินทุน เพื่อมาลงทุนให้กับกลุ่มนวัตกรมีเงินในการเริ่มต้นธุรกิจ นอกเหนือจากการได้ทุนจาก NIA 4. ส่งเสริมให้เกิด Innovation Based Enterprise (IBE) มาก ๆ โดยต้องทำทุกอย่างในองค์กรให้เป็นนวัตกรรม 5. ส่งเสริมระบบสิทธิบัตร เพราะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ใช้วัด Global Innovation Index หรือ GII (ดัชนีความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ) และ 6. ส่งเสริมเรื่องซอฟต์พาวเวอร์
สำหรับประเทศไทยยังมีพื้นที่ในตลาดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ยังต้องพัฒนา จากดัชนี GII ปี 2566 ไทยได้อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ ซึ่งเท่ากับปีก่อนหน้า และเป็นอันดับที่ 3 ในทวีปเอเชียรองจากสิงคโปร์ และมาเลเชีย ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ในเชิงมูลค่า แต่สิ่งที่เราขาดคือสินค้าเชิงวัฒนธรรม และสินค้าบริการสร้างสรรค์ และถ้าเราสามารถพัฒนาจุดนี้ได้ ก็จะส่งเสริมให้เป้าหมายพาประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 30 ของดัชนี GII ภายในปี 2575 เป็นผลสำเร็จ
Service Design สำคัญต่อเศรษฐกิจ
"กัลยา โกวิทวิสิทธิ์" ผู้ร่วมก่อตั้ง FabCafe Bangkok กล่าวว่า นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องเป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดนวัตกรรมได้ คือต้องมีองค์ความรู้มากพอ และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ
"พื้นที่การออกแบบไม่ได้มีแค่ aesthetic (สุนทรียศาสตร์) หรือออกแบบให้สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ process design (การออกแบบกระบวนการ) และ service design (การออกแบบบริการ) ดังนั้น ดีไซน์เนอร์ที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้มากกว่าสินค้าที่มี aesthetic จะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมงานบริการ ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ซึ่งการออกแบบบริการไม่เพียงดีไซน์เนอร์ต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการ หรือการแก้ปัญหาของผู้บริโภค แต่ยังต้องมีทักษะครอบคลุมการวิเคราะห์ คำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภค เข้าใจความคิดและพฤติกรรม เพื่อปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น โดยเครื่องมือสำคัญคือ data insight แต่ดีไซเนอร์ไทยยังมีช่องว่างเรื่องนี้อยู่ นอกจากนั้น ดีไซเนอร์ควรต้องมีทั้ง logical thinking และ critical thinking ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้เชิงเทคนิค
ดังนั้น นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ต้องศึกษาข้อมูลมาก ๆ ต้องรู้ลึก สามารถขุดข้อมูลเชิงลึกมาใช้ได้ ไม่เสพโซเชียลมีเดียแบบผ่าน ๆ และอ่านหนังสือมากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาที่สอนด้านออกแบบในไทยต้องพัฒนาการสอน ไม่ใช่สอนแค่อาร์ต แต่ต้องสอนกระบวนการคิด ซึ่งเด็กจำนวนมากยังมีทิศทางด้านอาชีพนี้ที่ไม่ชัด
นอกจากนั้นเส้นการทำงานดีไซเนอร์ต้องเปิดกว้าง อย่างในธุรกิจสตาร์ทอัพในฝั่งฮาร์ดแวร์มักวางดีไซเนอร์ให้ออกแบบหน้าตาของสินค้า และถ้าไปอยู่ฝั่งซอฟท์แวร์ก็จะวางดีไซเนอร์เป็น UX/UI เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ดีไซน์เนอร์สามารถเข้าไปทำงานได้ตลอด journey แม้กระทั่งด้านกลไกลการเก็บข้อมูล (design research) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่แค่ขาดจุดเชื่อมต่อ เช่น ดีไซนเนอร์บางคนสร้างผลงานออกมาแล้วได้รางวัล แต่ก็ยังไม่รู้จะไปต่อยอดที่ไหน"
ออกแบบโมเดลธุรกิจ พร้อมกับสร้างดีไซน์เนอร์มายเซ็ต
"นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์" ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง RISE นวัตกรรมเทคโนโลยี กล่าวว่า คนยังสับสนระหว่างนวัตกรรม (innovation) และสิ่งประดิษฐ์ (invention) ซึ่งจริง ๆ แล้วมีเส้นบาง ๆ ที่ต่างกัน โดยสิ่งประดิษฐ์ คือสิ่งที่เราอยากทำ แต่นวัตกรรม คือสิ่งที่คนอยากใช้
"ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ แต่สตาร์ทอัพของไทยเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ประมาณปี 2553 จึงตามหลังซิลิคอนแวลลีย์ที่เขาทำมากว่า 50 ปี ดังนั้น ไทยต้องเรียนรู้อีกเยอะ การออกแบบโมเดลธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการสร้างนวัตกรรมผู้ประกอบการไทยก็ทำได้ดี แต่ยังดีไม่ทันใจหลายคน ซึ่งภาครัฐเองสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ ด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนบ่อย ๆ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องยึดมั่นในสิ่งที่ทำ มีความอดทน และตั้งใจ"
การพัฒนาคนเพื่อวางรากฐานธุรกิจเป็นส่วนสำคัญต่อการดีไซน์โมเดลธุรกิจ ต้องสร้างคนให้มี Designer Mindset ที่ประกอบด้วย 1. Curiosity สามารถตั้งคำถามได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และอะไรคือ pain points 2. Empathy ดีไซน์ของที่มีคนอยากใช้ ไม่ใช่สิ่งที่ดีไซน์เนอร์อยากทำอย่างเดียว ต้องนั่งในใจลูกค้าได้ ต้องเก็บข้อมูล และเป็นคนช่างสังเกต 3. Bias for Action นักออกแบบที่ดีต้อง think with your hands คือ คิดผ่านการลงมือทำ ซึ่งอาจไม่ถูกทั้งหมดในครั้งแรก แต่ถ้าผิดพลาดก็ต้องเอาข้อมูลที่ได้รับฟังจากลูกค้ามาปรับอย่างรวดเร็ว และสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วตามความต้องการของตลาด
"นักศึกษาควรออกไปหาโลกการทำงานให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้เราไม่ได้แข่งขันแค่กับเพื่อน หรือกับคนไทย แต่เรากำลังแข่งกับแรงงานรอบโลก ดังนั้น ต้องสร้างความพร้อมให้กับตัวเอง"
ไอเดียที่ดีมาจากโจทย์ที่ตั้งเพื่อสร้างนวัตกรรม
"จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์" กรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด กล่าวว่า นวัตกรรมคือโซลูชั่น และนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต้องมาจากการมองเห็นปัญหา ของอะไรบางอย่าง หรือของคนบางคน แล้วสร้างอะไรก็แล้วแต่ที่มาแก้ไขปัญหานั้น อย่างไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้น รูปแบบปัญหาจะเปลี่ยนไปตลอด จึงต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ มาแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ เสมอ
"ถ้าจะวัดผลว่านวัตกรรมที่ทำออกมาตอบโจทย์หรือไม่ ให้ดูว่าสร้างมาแล้วต้องวิ่งหาลูกค้าหรือเปล่า เพราะนวัตกรรมที่ดีจะดึงดูดลูกค้ามาใช้เอง เนื่องจากมันตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา นอกจากนั้น product design (การออกแบบผลิตภัณฑ์) ก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่า โดยดีไซน์ที่ดีต้องมาจากโจทย์ที่ตั้งเพื่อการสร้างนวัตกรรม
ซึ่งดีสวัสดิ์ทำเฟอร์นิเจอร์มาแล้วหลายแบบ ทั้งร่วมงานกับดีไซน์เนอร์ไทยและต่างชาติ โดยผมจะเริ่มจากการตั้งโจทย์ที่ท้าทาย ทำสิ่งที่ยังไม่มีคนเคยคิดมาก่อน ซึ่งผมใช้วิธีค้นหาผ่านกูเกิ้ลดูว่า เจอแนวคิดแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าไม่เจอแสดงว่าน่าสนใจและเป็นนวัตกรรม จากนั้นส่งไอเดียให้กับดีไซน์เนอร์ และก็จะมีการฟีดแบคกันตลอดกระบวนการ แล้วไอเดียมันก็จะผุดขึ้นมาเอง เพราะความคิดมันเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทั้งหมด การทำงานเช่นนี้ทำให้สินค้าของดีสวัสดิ์ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีทั้งด้านนวัตกรรมและการออกแบบ จากการประกวดผลงานในหลาย ๆ ประเทศ ที่สำคัญผมอยากแนะนำให้คนไทยผสมงาน craft ไปในการออกแบบและนวัตกรรม เพื่อสร้างความแตกต่าง และใช้ storyteller ที่มีความเป็นไทย แฝงประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มมูลค่า
ในฐานะผู้ประกอบการ ผมมองเห็นว่า หน่วยงานราชการในไทยยังขาดการส่งต่อข้อมูล และไม่มีการวาง road map ให้ทุกหน่วยเชื่อมต่อกัน จึงทำให้ผู้ประกอบที่เริ่มนับ 1 แล้วมักจบที่ 1 เพราะไปต่อไม่ได้ นอกจากนั้น เด็กไทยยังมีปัญหาการสื่อสาร เรียงลำดับความสำคัญไม่เก่ง การเล่าเรื่องทำให้นวัตกรรมดูว้าวเพื่อขายงานให้คนสนใจยังทำได้ไม่ดี ส่วนนักศึกษาควรเปิดโลกด้วยการพบเจอคนเยอะ ๆ เพื่อจะได้ฟังแนวคิดที่หลากหลาย และจะได้พัฒนาการสื่อสารไปด้วย"
Design Innovator ตำแหน่งสำคัญของทุกองค์กร
"ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์" คณบดี คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ทางคณะฯมีจุดมุ่งหมายสร้างบัณฑิตที่เป็น talent ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุค creative economy ทั้งในและต่างประเทศ โดยนักศึกษาจะมีจุดแข็งทั้งด้านดีไซน์แผนธุรกิจ ผสมผสานกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถแก้ pain points ต่าง ๆ ได้
บทบาทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์กระตุ้นให้อาชีพ design innovator ขยับขึ้นเป็นตำแหน่งสำคัญของทุกองค์กร ไม่ต่างจากอาชีพนักบัญชี และนักกฎหมาย ตามที่ NIA นิยาม intrprenuer และ innovative career จึงผสานองค์ความรู้ 4 ศาสตร์ที่จำเป็นให้นักศึกษา ประกอบด้วย 1. Creative Design สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก 2. Humanity เข้าใจเรื่องคน สร้างความพึงพอใจ และเจาะเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาด 3. Technology and Research Innovation ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจ สอดรับทิศทางตลาดและนวัตกรรมใหม่ ๆ และ 4. Marketing & Management บริหารกลยุทธ์เชิงการตลาด
"นักศึกษาของเราจะสามารถเจาะลึก insight data จนไปถึงเข้าใจกระบวนการสร้างสินค้า ผ่านประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่น service design ซึ่งนักศึกษาจะเรียน 3 ปีกับมหาวิทยาลัย และทำงานจริง 1 ปี โดยในช่วง 3 ปี จะเน้นศึกษาด้านแนวคิด กลยุทธ์ ทิศทาง และฝึกปฎิบัติในรูปแบบสตูดิโอดีไซน์ และ 1 ปี ไจะได้เรียนรู้ฝึกฝนกับภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมตามความสนใจ
พร้อมกับสามารถขับเคลื่อนองค์กร หรือเป็นสตาร์ตอัพสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง"
นวัตกรรมการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าต้องก้าวทันความต้องการตลาด และยกระดับความสามารถคนไทยให้เท่าทันโลก เพื่อตอบโจทย์ได้กับทุกธุรกิจแบบไร้ข้อจำกัด