นวัตกรรม "หุ่นจำลองหนูขาวใหญ่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง" (White rat organs (Rattus norvegicus ) made from waste materials is an interactive model for self-learning) ผลงานของอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญเงิน (Silver medal) จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ iENA 2023 (The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2566 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และได้รับโล่รางวัลพิเศษ Special award on stage จากสาธารณรัฐโปแลนด์ (Association of Polish Inventors and Rationalizers)
นวัตกรรมนี้เป็น 1 ใน 26 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็นทีมเดียวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการประกวดในด้าน Teaching and Research, Pedagogical items ผู้พัฒนาผลงานนวัตกรรม ประกอบด้วย ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ นายภักดี สุดถนอม นางจันทิมา อินทรปัญญา คณะ สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และนายกฤตยชญ์ เชื้อศิริ นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม
"หุ่นจำลองหนูขาวใหญ่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง" เป็นนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนกายวิภาคทางสัตวแพทย์ที่นำมาใช้แทนการใช้ร่างกายของสัตว์จริง ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนในรูปแบบสามมิติมากขึ้น โดยมีการขยายให้มีขนาดใหญ่กว่าอวัยวะของหนูจริงถึงสามเท่าตัว เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและก้าวข้ามความกลัว ส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอน เพิ่มพูนทักษะความแม่นยำในการผ่าชำแหละเพื่อศึกษาเรียนรู้ ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ ภายในหุ่นจำลองมีการฝังวงจรไฟฟ้าและการฝังแม่เหล็ก ช่วยทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผู้เรียนได้ 360 องศา นอกจากนี้ในการผลิตหุ่นจำลองหนูขาวใหญ่ใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น เม็ดโฟม ฝาพลาสติก ซึ่งเป็นของเหลือใช้ที่ถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์