กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโชว์นวัตกรรมผลงานวิจัยล่าสุด “เครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์” มีประสิทธิภาพล้างสารเคมีตกค้างและจุลินทรีย์ในผักและผลไม้สูงถึง 78% ลดปริมาณการใช้น้ำได้ 85% เมื่อเทียบกับการล้างแบบเดิม เตรียมผลิตจำหน่ายทดลองตลาด 20 เครื่อง พร้อมเปิดทางผู้ประกอบการไทยต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ ประประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “เครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์ ” (Ultrasonic Vegetable and Fruit Cleaner) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการล้างสารเคมีที่ตกค้างและจุลินทรีย์ตามซอกมุมต่าง ๆ ของใบผักและผิวผลไม้ เกิดการสลายและหลุดออกจากผักและผลไม้ได้ โดย วว. ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดสอบประสิทธิภาพการใช้ เครื่อง ในการทดลองล้างผักและผลไม้โดยควบคุมเวลาและปริมาณของผักที่ใช้ในการล้างพบว่า การใช้เครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์ร่วมกับน้ำยาล้างผัก สามารถชำระล้างสารเคมีตกค้างและ จุลินทรีย์ในผักและผลไม้สูงถึง 78% โดยไม่ทำให้ผักช้ำและลดปริมาณการใช้น้ำได้ 85% เมื่อเทียบกับการล้างแบบเดิม ซึ่งภายในครัวเรือนหรือร้านอาหารต่าง ๆ นิยมล้างด้วยการให้น้ำไหลผ่านผักและผลไม้เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก ทำให้สูญเสียทรัพยากรน้ำเป็นจำนวนมากในการล้างแต่ละครั้ง นอกจากนั้นยังไม่สามารถชำระล้างสารเคมีออกจากผักประเภทที่มีใบมากหรือมีกิ่งก้านที่ซับซ้อน เช่น ผักชี คะน้า องุ่น ฯลฯ สำหรับอุตสาหกรรมการล้างผักและผลไม้จะใช้วิธีการไหลผ่านของน้ำร่วมกับแรงดันอากาศ แต่ต้องใช้ปริมาณน้ำมากเช่นกันทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
“...เพื่อต่อยอดงานวิจัยด้านอัลตราโซนิกส์ให้สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย วว. จะผลิตเครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์สำหรับทดลองตลาดจำนวน 20 เครื่อง ที่มีการใช้คลื่นอัลตราโซนิกส์ ที่มีความถี่และความแรงของคลื่นเหมาะสมกับการล้างผักผลไม้ โดยไม่ทำให้ผักหรือผลไม้ช้ำและประหยัดน้ำ การทดลองตลาดครั้งนี้จึงเป็นการดำเนินการเพื่อศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ ได้แก่ รูปแบบการนำไปใช้งาน ระยะเวลาการทำความสะอาด ความสะดวกในการใช้งานรวมทั้งข้อมูลทางด้านการตลาด เป็นต้น เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงเครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์ให้สมบูรณ์พร้อมนำไปถ่ายทอดเชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไทยมีการต่อยอดการผลิตก็จะช่วยลดปริมาณการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ในราคายุติธรรม” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้อำนวยการ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์พัฒนาต่อยอดจากประสบการณ์งานวิจัยของฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ ที่ได้พัฒนาเครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิกส์เมื่อ พ.ศ.2544 ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำความสะอาดชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีรูปร่างซับซ้อนและเปราะบางได้ดีทุกซอกทุกมุม โดยไม่ทำลายผิวหน้าของวัสดุหรือมีร่องรอยหลังการล้างทัดเทียมกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
“…สำหรับเครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์ประกอบด้วยอ่างน้ำสำหรับใส่ผักและผลไม้ บริเวณก้นอ่างจะถูกยึดติดกับหัวทรานสดิวเซอร์ เมื่อเปิดเครื่องวงจรไฟฟ้าภายในตัวเครื่องจะส่งสัญญาณไฟฟ้าความถี่สูงระดับกิโลเฮิร์ตให้กับหัวทรานสดิวเซอร์ส่งคลื่นเหนือเสียง ที่มีความถี่สูงประมาณ 60 กิโลเฮิร์ต ไปยังน้ำที่แช่ผักและผลไม้ ทำให้น้ำเกิดการสั่นสะเทือนเกิดกระบวนการ cavitation และทำให้มีพลังงานที่เป็น shock wave เกิดขึ้น และด้วยสมบัติของคลื่นเหนือเสียงที่สามารถแทรกซึมได้ทั่วทุกซอกทุกมุมภายในอ่าง จึงทำให้สารเคมีที่ตกค้างตามซอกใบและพื้นผิวของผักผลไม้ตามซอกมุมต่าง ๆ เกิดการสลายและหลุดออกในที่สุด” ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ กล่าว
ชมการสาธิตเครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์ ได้ที่ งานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 45 ปี วว. “สุขภาพดี ชีวีสดใส” ในวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2551 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต หรือ นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. โทร. 0 2579 1121- 30 ต่อ 2015 และ 2120 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail : tistr@tistr.or.th