รมว.ดีอี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Thailand Digital Valley ในอำเภอศรีราชา ระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลสำคัญของประเทศ สานต่อความร่วมมือ หัวเว่ย เตรียมลงทุนในพื้นที่ พร้อมร่วมหารือคณะผู้บริหารจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สอดรับกับเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทยด้าน Thailand Competitiveness การยกระดับความสามารถของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะต่อไป
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Thailand Digital Valley ระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) สำคัญของประเทศไทยโดยการบริหารจัดการของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในอำเภอศรีราชา โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า คณะผู้บริหารและพนักงาน ดีป้า รวมถึงผู้บริหารจากภาคเอกชนร่วมให้การต้อนรับ
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า โครงการ Thailand Digital Valley จะเป็นศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับประเทศไทยและส่งเสริมให้คนไทยก้าวไปสู่เวทีระดับโลก เปิดมิติใหม่ทางการค้าสู่ตลาดสากลด้วยบทบาทเจ้าของเทคโนโลยีที่มีความร่วมมืออันดีกับเครือข่ายพันธมิตร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผ่านกลไกต่าง ๆ
โดย Thailand Digital Valley จะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลตามเทคโนโลยีเป้าหมายกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการออกแบบฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) เทคโนโลยีด้านการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เทคโนโลยี IoT, AI, Software Convergence และ Cloud Innovation ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจและต่อยอดการส่งออกของประเทศ นำไปสู่การใช้งานทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน รวมถึงการให้บริการด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้น ตลอดจนรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้จะทำให้เกิดบทบาทและจุดยืนในเรื่อง Digital Content, Animation, Game และ E-SPORTS เป็นพื้นที่สร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน และผลักดันให้เกิดศูนย์กลางความร่วมมือทางการค้าระดับสากล จัดสรรเป็น 5 อาคาร รวมพื้นที่ใช้สอย 100,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย depa Digital One Stop Service, Digital Startup Knowledge Exchange Center, Digital Innovation Center, Digital Edutainment Complex และ Digital Go Global Center
"ล่าสุดอาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Center อาคารแห่งที่สองของโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีผู้เช่าเต็มพื้นที่ พร้อมเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งอาคารดังกล่าวจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่รวบรวมดิจิทัลสตาร์ทอัพและกำลังคนสายดิจิทัลไว้มากที่สุดในประเทศ อีกทั้งเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมดิจิทัลประเภทต่าง ๆ โดย ดีป้า ต้องการให้อาคารแห่งนี้เป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านดิจิทัล และสร้างเครือข่ายที่มีความพร้อมสำหรับการต่อยอดธุรกิจของเหล่าดิจิทัลสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมติดตามความพร้อมโครงการ Thailand Digital Valley รวมถึงความก้าวหน้าของอาคาร Digital Innovation Center ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้าน AI & Cloud ของ หัวเว่ย ภายหลังตอบรับคำเชิญจาก รมว.ดีอี ให้เข้ามาลงทุนในไทยในวงหารือที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดย หัวเว่ย แสดงความพร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand Digital Valley ในอนาคต" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
จากนั้น นายประเสริฐ ได้ร่วมพูดคุยกับ นายเดวิด ลี Chief Executive Officer บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด นายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer SCG Digital ภายใต้ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายสุทธิรักษ์ พาทรัพย์มา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม สายงานธุรกิจภาครัฐ และ นางสุดาพร ไชยภูมิสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลที่จะนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
นายประเสริฐ กล่าวว่า โครงการ Thailand Digital Valley มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2568 โดยจะเป็นระบบนิเวศดิจิทัลสำคัญของประเทศไทย อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกำชับให้ ดีป้า ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
"ในส่วนของการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารวันนี้ต่างเห็นพ้องกันว่า การขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงดีอี และ ดีป้า ได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา เพื่อดึงดูดกำลังคนดิจิทัลในสาขาที่ขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างกำลังคนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหากโครงการ Thailand Digital Valley แล้วเสร็จจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มจำนวนบุคลากรดิจิทัลให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานด้านดิจิทัลในพื้นที่มากกว่า 20,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พร้อมรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ซึ่งโครงการ Thailand Digital Valley รวมถึงการร่วมพูดคุยกับผู้บริหารจากภาคเอกชนในวันนี้ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทยด้าน Thailand Competitiveness หรือการยกระดับความสามารถของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะต่อไป" รมว.ดีอี กล่าว