เคพีเอ็มจีจัดงาน "KPMG Business Leaders' Summit 2023: Driving the Future" เชิญพันธมิตรจากองค์กรชั้นนำ ร่วมเสวนาทิศทางและสรุปโอกาสสำคัญเพื่อภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
- อัตราเติบโตของ GDP มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจในประเทศยังต้องเผชิญสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่มูลค่าราว 16 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP
- การควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อการเติบโตของธุรกิจ บริษัทต้องมีความมั่นใจว่าการเข้าทำรายการสอดคล้องกับเป้าหมาย และมี synergy แก่องค์กร ซึ่งต้องอาศัยการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจแบบบูรณาการ (Integrated Due Diligence) เป็นเครื่องมือในการช่วยในการประเมิน
- ESG ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จของธุรกิจในทุกภาคส่วนเนื่องจากจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็น license to operate นอกจากนี้การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) จะเป็นหัวใจขับเคลื่อนที่ทำให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
- AI คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้าง productivity ให้กับธุรกิจ ดังนั้นการเรียนรู้ทักษะด้าน AI จึงมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย จัดงานสัมมนา "KPMG Business Leaders' Summit 2023: Driving the Future" ต้อนรับผู้ร่วมงานกว่า 200 คนจากหลายบริษัทชั้นนำในประเทศไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา พร้อมชูกลยุทธ์สำคัญและแนวคิดการบริหารจัดการเพื่อช่วยธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว เปิดเผยว่า "การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคธุรกิจ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และการเติบโตขององค์กร ทำให้การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีกลยุทธ์ที่สามารถยืดหยุ่นเพื่อใช้ปรับเปลี่ยนและตรงความต้องการของลูกค้าได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เคพีเอ็มจี ประเทศไทย จึงได้จัดงานสัมมนา KPMG Business Leaders' Summit 2023: Driving the Future โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมเสวนาแบ่งปันข้อมูลด้านความท้าทายที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องเผชิญ รวมถึงทิศทางและโอกาสสำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้สามารถเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน"
ความท้าทายในด้านเศรษฐกิจโลก-ไทยที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ได้นำเสนอในงานสัมมนาฯ พบว่าอัตราเติบโตของ GDP มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราวๆ 26-27 ล้านคนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในประเทศยังต้องเผชิญสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่มูลค่าราว 16 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจยังเติบโตต่อได้แต่จะมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ และราคาสินค้าและบริการก็จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะเงินเฟ้อที่ยังดำเนินอยู่ และอีกประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ก็คือสถานการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมาตลอดก่อนหน้านี้เพื่อหยุดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ และส่งผลให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพราะสหรัฐอเมริกาคือประเทศหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ภาคธุรกิจยังต้องติดตามสถานการณ์ด้าน Geopolitics ที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านการค้าของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเกิดการแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็นกลุ่ม ทำให้ในระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ก็จะมีการจัดรูปแบบใหม่ (Reconfigure) และเกิดการเคลื่อนย้ายระบบโลจิสติกส์ของแต่ละธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้
โอกาสและปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
กระบวนการ M&A ตัวเร่งสร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจ
สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการเติบโตต่อไปในอนาคต การควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสใหม่ เพราะการเข้าไปควบรวมกิจการคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันนั้น จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ทันที ลดเวลาลงทุนพัฒนาสินค้าหรือจ้างพนักงาน การเข้าไปควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นสามารถสร้างการเติบโตจากผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ และยังสามารถแบ่งปันทรัพยากรจุดแข็งของแต่ละที่ด้วยกันได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ บริษัทเหล่านี้จะต้องพิจารณาข้อตกลงในทุกแง่มุมทางธุรกิจก่อนจะทำข้อตกลง และต้องเข้าใจกลยุทธ์ให้ดีว่าทำไมถึงต้องการทำ ทำแล้วต้องมีกำไรเกิดขึ้นได้ และต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นการควบรวมและซื้อกิจการ การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจแบบบูรณาการ (Integrated Due Diligence) จึงถือเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงแค่จะต้องตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ (Due Diligence) โดยมีการตรวจสอบสถานะทางการเงิน (Financial Due Diligence) ภาษี และกฎหมาย (Legal & Tax Due Diligence) เป็นหัวใจหลักเท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมด้านการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางการค้าของกิจการ (Commercial due diligence) และการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะการดำเนินงาน (Operational Due Diligence) อีกด้วย ความสำคัญของการสร้างมูลค่าผ่านกลไกทั้งหมดที่ได้กล่าวมาก็เพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทที่ซื้อและขายจะสามารถบูรณาการกันได้ และมีศักยภาพเติบโตได้จริง
แนวคิด ESG อาจไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกแต่คือทางรอดของภาคธุรกิจในอนาคต (The future of ESG)
ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนประกอบไปด้วย Environment (ด้านสิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (บรรษัทภิบาล) ซึ่งปัจจุบัน ESG เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จของธุรกิจในทุกภาคส่วนเนื่องจากจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็น license to operate เพราะการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะการทำกำไรสูงสุดไม่สามารถตอบโจทย์กับบริบทของโลกยุคปัจจุบันและในอนาคตได้อีกต่อไป ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวและสนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้สามารถเติบโตไปได้ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติสิ่งแวดล้อม การตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2608 คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกัน เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินงานและส่งผลให้เกิดต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ การช่วยกันแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกหนึ่งวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสนใจ เพื่อช่วยให้โลกของเราพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) ถือเป็นหัวใจขับเคลื่อนที่ทำให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้าในด้านการเงินได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสามารถดึงดูดกลุ่มนักลงทุนที่มีแนวคิดมุ่งเน้นด้านความยั่งยืน เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในธุรกิจที่ใส่ใจแนวคิด ESG และลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน หากธุรกิจนำ ESG มาใช้ให้เกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรและยกระดับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้ต่อไป
ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตด้วยข้อมูลและ AI (Driving business growth with data and AI)
ในยุคที่ Generative Artificial Intelligence (Generative AI) ที่ใช้ Algorithm มาสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ได้แก่ เสียง โค้ด รูปภาพ ตัวอักษร แบบจำลอง วีดีโอ โดยใช้ศักยภาพของ Generative AI มาสร้างรูปแบบ โดยภายในงานสัมมนาฯ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดได้นำเสนอ Microsoft 365 Copilot เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ใช้งานได้สอบถาม สร้างเอกสาร งานนำเสนอ เขียนอีเมล และสรุปรายงานการประชุม สามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และประหยัดเวลาหรือลดขั้นตอนงานบางประเภทได้ ดังนั้นธุรกิจในปัจจุบันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างทักษะด้าน AI เพื่อใช้สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทักษะที่จำเป็นของผู้บริหารในยุค AI
อ้างอิงจากผลวิจัยในปี 2023 โดยมีผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 31,000 จาก 31 ประเทศทั่วโลก จัดทำโดยไมโครซอฟท์พบว่า ผู้นำองค์กรกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังให้พนักงานต้องมีทักษะใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ AI โดยแบ่งเป็น ทักษะด้านการวิเคราะห์ 30 เปอร์เซ็นต์ ทักษะการปรับตัว 29 เปอร์เซ็นต์ ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ 27 เปอร์เซ็นต์ ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ 24 เปอร์เซ็นต์ ทักษะด้านการสร้างความสนใจใฝ่รู้ 23 เปอร์เซ็นต์ ทักษะด้านการจัดการอคติ 22 เปอร์เซ็นต์ ทักษะด้านการใช้งาน AI 21 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดโอกาสถูก Disruption ในการทำงานได้