กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ปัจจุบัน องค์กรหลายแห่งต่างพบกับความท้าทายสำคัญในการจัดการข้อมูลขององค์กรที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด บางแห่งแก้ปัญหาด้วยการใช้อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ทางด้านสตอเรจเพื่อบริหารจัดการข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลและลดค่าใช้จ่ายด้านไอที โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายทางด้านการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีหนึ่งที่นอกจากจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดการข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้ด้านพลังงานได้อีกด้วย ก็คือ เทคโนโลยีเสมือน หรือ เวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในหลายๆ ด้านภายในดาต้าเซ็นเตอร์ โดยสาระสำคัญแล้ว เป้าหมายของเวอร์ช่วลไลเซชั่นคือ การรวมศูนย์การบริหารระบบ พร้อมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับขนาด ปรับปรุงการจัดการเวิร์คโหลด และประหยัดค่าใช้จ่ายโดยใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์และพลังงานไฟฟ้าให้น้อยลง
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency) ระบุว่า ในช่วงปี 2006ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงถึง 61,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1.6% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในสหรัฐฯ และคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์ หากแนวโน้มในลักษณะนี้ยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าภายในปี 2011 ปริมาณการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งทำให้ความสำคัญเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกลายเป็นประเด็นสำคัญยิ่งขึ้นสำหรับผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศขององค์กรต่างๆ
ที่ผ่านมา เทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบไอทีภายในองค์กร ซึ่งครอบคลุมถึงระบบประมวลผลอัตโนมัติและระบบประมวลผลแบบยูทิลิตี้คอมพิวติ้ง (Utility Computing)
คุณประโยชน์บางประการของเทคโนเวอร์ช่วลไลเซชั่น ได้แก่:
? ช่วยองค์กรบริหารค่าใช้จ่ายโดยรวมในการดูแลรักษาระบบ (Total Cost of Ownership หรือ TCO) โดยลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการระบบ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในระบบไอที และช่วยวางรากฐานสำหรับการจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ในอนาคต
? ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้พลังงาน ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถของดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
? ช่วยให้องค์กรเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ร่วมกัน โดยดึงประโยชน์จากเครื่องมือที่สนับสนุนการทำงานในหลายระบบ และปรับปรุงความสามารถในการปรับเปลี่ยนธุรกิจรวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัย
? เพิ่มความยืดหยุ่นการรวมศูนย์ทรัพยากรทางด้านไอทีขององค์กร เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้โดยอิสระด้วยมาตรฐานเปิด และเพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเสมือน หรือ เวอร์ช่วลไลเซชั่นที่รองรับการแบ่งเซิร์ฟเวอร์หนึ่งเครื่องให้กลายเป็นเซิร์ฟเวอร์เสมือน (Virtual Server) หลายๆ เครื่อง หรือรวบรวมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหลายๆ เครื่องเข้าด้วยกันเพื่อให้ทำงานราวกับเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่หนึ่งเครื่อง บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner) เคยประเมินว่า กว่า 90% ของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังดำเนินการดังกล่าวเพื่อลดพื้นที่และค่าใช้จ่ายสำหรับเซิร์ฟเวอร์ x86
นอกจากนี้เทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ช่วลไลเซชั่นยังอาจช่วยองค์กรประหยัดพลังงานได้มากขึ้น ถ้าหากมีการจัดการในเรื่องทรัพยากรสตอเรจอย่างเหมาะสม โดยบริษัท ไอดีซี ระบุว่าทรัพยากรสตอเรจมีจำนวนเพิ่มขึ้น 50% ต่อปี และเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้พลังงานมากที่สุดในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งโดยมากแล้ว ทรัพยากรสตอเรจใช้พลังงานมากกว่าโปรเซสเซอร์ถึง 13 เท่า นอกจากนั้น การใช้ทรัพยากรสตอเรจมักจะอยู่ในระดับไม่ถึง 25% ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมขาดประสิทธิภาพด้านการจัดการที่ดี ทั้งนี้ เทคโนโลยีสตอเรจเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Storage Virtualization) จะช่วยให้อัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสตอเรจเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 60% หรือมากกว่านั้นได้อีกด้วย
การปรับใช้เทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่นบนทรัพยากรระบบทั้งหมด รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ และอุปกรณ์เครือข่าย จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งทรัพยากรเพิ่มเติมซึ่งจะต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดก็คืออุปกรณ์ที่มักไม่ค่อยถูกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ เราเตอร์ หรืออุปกรณ์สตอเรจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางด้านไอทีดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยการจัดการอุปกรณ์เสมือนและอุปกรณ์ทางกายภาพในลักษณะรวมศูนย์ (Centralized) เพราะถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่นจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้วยการผนวกรวมทรัพยากรทางกายภาพเข้าด้วยกันได้ แต่ก็อาจทำให้เกิดความซับซ้อนมากขึ้น เพราะทรัพยากรเสมือนที่ต้องบริหารจัดการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทรัพยากรแบบกายภาพและแบบเสมือน จะช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการระบบ เพื่อรองรับเซิร์ฟเวอร์หลายชนิด ทั้งนี้ การรวมศูนย์การจัดการดังกล่าวยังช่วยทำการย้ายเซิร์ฟเวอร์เสมือนโดยอัตโนมัติ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ถูกใช้งานน้อยกว่า และช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดทำรายการบัญชีเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์สตอเรจ ตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อจัดการเรื่องการบำรุงรักษาระบบ และป้องกันไม่ให้ระบบหยุดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน มีแนวทางการคิดค่าใช้จ่ายด้านไอที (IT Chargeback) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปรับปรุงระบบบัญชีในส่วนของงานไอทีและการปรับเปลี่ยนทรัพยากรให้สอดคล้องกับธุรกิจ ตัวอย่างเช่น เครื่องมือที่มีอยู่จะสามารถตรวจสอบการใช้แอปพลิเคชั่น, เซิร์ฟเวอร์ และทรัพยากรไอทีอื่นๆ ดังนั้นองค์กรที่ต้องการผนวกรวมและปรับเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ให้เป็นแบบเสมือน จะสามารถคิดค่าใช้จ่ายได้ถูกต้องยิ่งขึ้นสำหรับการใช้งานที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน บริษัทด้านพลังงานหรือหน่วยงานราชการหลายแห่งในสหรัฐฯ ให้ความสนใจต่อประเด็นปัญหาเรื่องพลังงานมากขึ้น โดยมีการดำเนินโครงการประหยัดพลังงานทั้งในส่วนของหน่วยงานสาธารณูปโภคและหน่วยงานภาครัฐกว่า 80โครงการ ซึ่งเสนอส่วนลดสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน ตัวอย่างเช่น Pacific Gas and Electric of California ได้อนุมัติแผนการคืนเงินค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับโครงการผนวกรวมเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจ รวมถึงซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการให้คำปรึกษา ให้กับลูกค้า ซึ่งสูงสุดไม่เกิน 4 ล้านเหรียญสำหรับลูกค้าแต่ละราย
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้เอง สามารถสรุปได้ว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ประหยัดพลังงานในปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่จำเป็น และหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือเทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ช่วลไลเซชั่น ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรม โดยเป็นผลมาจากการผนวกรวมฮาร์ดแวร์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรทางด้านไอทีขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น นั่นเอง
แผนกประชาสัมพันธ์
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร โทร. 02 273 4117
อีเมล์ werakit@th.ibm.com