กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term Local Currency IDR) ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) ที่ ‘A-’ (A ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘B/C’ อันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารที่ ‘1’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ SCBT ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
SCBT เป็นส่วนประกอบสำคัญของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียของ Standard Chartered Bank (SC) โดย SC มีความประสงค์ที่จะถือหุ้นใน SCBT ในระยะยาว และได้มีการควบคุมการบริหารงานของ SCBT ผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT หลังจากปี 2552 ข้อจำกัดในการถือหุ้นของบริษัทต่างชาติในการเพิ่มทุนในธนาคารอาจส่งผลให้ SCBT ต้องพึ่งพากำไรสะสม การจัดสรรสินทรัพย์ และเงินกองทุนขั้นที่ 2 เพื่อลดทอนผลกระทบจากการที่การถือหุ้นของ SC จะถูกลดสัดส่วนลง เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ SC และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SC ที่ระดับ ‘A+’ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ในกรณีที่มีความจำเป็น
SCBT รายงานผลกำไรสุทธิ 1.7 พันล้านบาทในปี 2550 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 3 พันล้านบาท ในปี 2549 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลักเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้สูญที่เข้มงวดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 และการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมสำหรับสินเชื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคาร อย่างไรก็ตามธนาคารสามารถรักษาระดับผลกำไรก่อนการกันสำรองได้ค่อนข้างคงที่ แนวโน้มของการประกอบการในปี 2551 ยังคงท้าทายสำหรับธนาคารซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อผู้บริโภค ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารน่าจะลดลง
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารถือว่าต่ำสุดในกลุ่มธนาคารไทย และยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าที่ 2.2 พันล้านบาท หรือ 2.8% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2550 ในขณะเดียวกันระดับการกันสำรองหนี้สูญยังคงสูงอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท หรือ 144.9% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ณ สิ้นปี 2550 ถึงแม้ว่าระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารจะจัดว่ามากกว่าที่จำเป็น ธนาคารยังคงมีความเสี่ยงจากการที่มีสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกันซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าในสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจทำให้การผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มสินเชื่อลูกค้ารายย่อยสูงขึ้นได้
ณ สิ้นปี 2550 อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนทั้งหมดของ SCBT อยู่ที่ระดับ 13.8% และ 14.2% ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดตามลำดับ หากไม่มีการเข้าลงทุนเพิ่มในการเข้าซื้อกิจการใด ๆ อัตราเงินกองทุนของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพ นอกจากนั้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel II ณ สิ้นปี 2551 อาจส่งผลให้ระดับเงินกองทุนลดลงในระดับหนึ่งซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำสำหรับความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
SCBT ถูกก่อตั้งในปี 2476 โดยตระกูลหวั่งหลี ในปัจจุบัน SC มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 99.83% ในธนาคาร SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อประมาณ 1.5% และทางด้านเงินฝากประมาณ 1.6% และมีเครือข่ายสาขาทั้งสิ้น 38 สาขา ซึ่งสาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพและศูนย์กลางภูมิภาค
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
ดรุณี เพียรมานะกิจ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4752/4759
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน