โรครูมาตอยด์สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม โดย คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

ข่าวทั่วไป Wednesday November 8, 2023 14:08 —ThaiPR.net

โรครูมาตอยด์สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม โดย คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

อาการปวดบริเวณข้อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อไหล่ หรือข้ออื่น ๆ ในร่างกายที่เกิดขึ้น คุณเคยสงสัยไหมว่า เป็นเพียงอาการปวดเมื่อยทั่ว ๆ ไป หรือเป็นการปวดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื้อหุ้มข้อหรือที่เรียกว่า "โรครูมาตอยด์"

โรครูมาตอยด์ เป็นโรคประเภทหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune) ที่มีลักษณะอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งมักจะมีอาการเด่นที่ข้อต่อต่าง ๆ ได้เกือบทุกข้อของร่างกาย โดยลักษณะของการอักเสบจะเป็นการอักเสบอย่างรุนแรงและเรื้อรัง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดการทำลายข้อต่ออย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากเกิดอาการได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดความพิการได้ในอนาคต

โรครูมาตอยด์ในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค : ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ประกอบด้วยหลายปัจจัย ได้แก่

1. ปัจจัยภายในร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอ กล่าวคือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เจิ้งชี่พร่อง ทำให้เกิดความพร่องของตับและไต และทำให้สารจิงและเลือดไม่พอ ซึ่งโดยปกติระบบเส้นเอ็นและกระดูกจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากเลือดและหยางชี่ของตับและไต ดังนั้น เมื่อการทำงานของตับบกพร่องจึงส่งผลต่อเส้นเอ็น และเมื่อการทำงานของไตบกพร่องจึงส่งผลต่อกระดูก

2. ปัจจัยภายนอกที่มากระทำหรือที่เรียกว่า "เสี่ยชี่" ได้แก่ ลม ความเย็น และความชื้น ทำให้เส้นลมปราณอุดกั้น การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด เกิดภาวะเลือดคั่ง ความร้อนสะสมและเสมหะตกค้าง โดย "ลม" จะทำให้เกิดอาการปวดข้อต่อที่แปรเปลี่ยน "ความเย็น" จะทำให้เกิดการอุดกั้นของชี่และเลือด เป็นสาเหตุของอาการปวด และทำให้ข้อต่อและเอ็นหดรั้ง ผู้ป่วยจึงเคลื่อนไหวลำบาก และ "ความชื้น" จะทำให้เกิดอาการหนัก หนืด ติดแน่น ยึดติด เฉื่อยชา บวม และตึง หากเสียชี่เหล่านี้รุกรานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความร้อนอุดกั้นการไหลเวียนของลมปราณและเลือด โดยเฉพาะเส้นลมปราณและเส้นเลือดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการต่าง ๆ ก็อาจจะกระจายไปทั่วร่างกาย นอกจากนั้น เมื่ออินดั้งเดิมพร่อง เลือดพร่อง ทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย ส่งผลทำให้น้ำหล่อเลี้ยงในร่างกายแห้งและเกิดเป็นเสมหะ ซึ่งความร้อนและเสมหะจะทำให้เกิดการอุดกั้นเส้นลมปราณและเลือดที่มาหล่อเลี้ยงข้อต่อ จึงเกิดอาการ บวม ตึง อักเสบ และผิดรูปเป็นวัฏจักร ก่อให้เกิดอาการเรื้อรังของโรคได้

3. การเสียสมดุลของอารมณ์ทั้งเจ็ด เช่น อารมณ์โกรธ คิดมาก วิตกกังวล มักจะส่งผลให้การไหลเวียนของชี่ติดขัด ซึ่งโดยปกติชี่จะทำหน้าที่ให้พลังความอบอุ่นแก่ร่างกาย และเลือดจะทำหน้าที่ส่งอาหารและความชุ่มชื้นเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น เมื่อชี่ติดขัดจึงส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง และเกิดอาการปวดอย่างรุนแรงได้

4. ความเสียสมดุลของการทำงานและการพักผ่อน กล่าวคือ การทำงานหนักหรือใช้ร่างกายเกินความจำเป็น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หยางชี่พร่อง จึงส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องไปด้วย และทำให้เสียชี่ ได้แก่ ลม ความเย็น และความชื้น รุกรานได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การพักผ่อนที่มากเกินความจำเป็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากทำให้หน้าที่ของม้ามและกระเพาะอาหารเกิดความผิดปกติได้ และการลำเลียงอาหารและการย่อยเปลี่ยนรูปพลังงานของอาหารเกิดความบกพร่อง ส่งผลให้การสร้างชี่และเลือดลดลง นอกจากการทำงานหนักหรือพักผ่อนมากเกินความจำเป็น ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล ได้แก่ ร่างกายที่ขาดการออกกำลังกาย เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการกีดขวางการไหลเวียนของชี่และเลือด ส่งผลต่อตับและไต รวมทั้งส่งผลต่อเส้นเอ็นและกระดูกทั่วร่างกาย ดังนั้น เมื่อเกิดการอุดกั้นของชี่ เลือดและน้ำหล่อเลี้ยงในร่างกาย ย่อมก่อให้เกิดเสมหะตกค้างได้ โดยเฉพาะการตกค้างในข้อต่อ ทำให้เกิดการอักเสบในที่สุด

แนวทางการรักษา

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีแนวทางการรักษาโรครูมาตอยด์ โดยวิธีการใช้สมุนไพรร่วมกับการฝังเข็ม การรมยา การครอบแก้ว และการอบสมุนไพร ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยว่าอยู่ในระยะใดของโรค โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากระดับการพร่องของเจิ้งชี่ ระบบการไหลเวียนของเลือด ปริมาณของเลือด และภาวะอินหยางของอวัยวะภายใน

บทสรุปและคำแนะนำ

การรักษาโรครูมาตอยด์จะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นของโรคและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการรักษาโดยการฝังเข็มควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นวิธีการรักษาที่ส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการฝังเข็มนั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดให้ดีขึ้นได้แล้ว ยังช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นอีกด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการรักษาที่ต้นเหตุเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาระยะยาว แพทย์จึงจำเป็นต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้เข้าใจถึงวิธีการและระยะเวลาในการรักษาให้ชัดเจน เพื่อลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษา รวมทั้งให้ความร่วมมือในการปรับสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจของตนเอง เช่น การฝึกทักษะในการมองโลกในแง่ดี การทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าโรครูมาตอยด์จะเกิดได้กับคนทั่วไป แต่ก็เป็นโรคที่สามารถบำบัดรักษาให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ และหากรู้จักดูแลตัวเองให้มีร่างกายที่แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรครูมาตอยด์ได้เช่นกัน

  • สอบถามข้อมูล หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่ "ทีมหมอจีน" คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โทร 02 223 1111 
  • เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 16:00 น.
  • LINE OA: @huachiewtcm
  • Facebook: หัวเฉียวแพทย์แผนจีนกรุงเทพ Huachiew TCM Clinic

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ