นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจัดทำสื่อทั้งแผ่นพับและสื่อออนไลน์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อจากฝอยละอองจากการไอ หรือจามรดกัน หรืออาจติดต่อจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
วิธีการป้องกัน ได้แก่ การดูแลสุขภาพ และ "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด - ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน ล้าง - ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เลี่ยง - หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หยุด - หยุดเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด และหากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากพบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรับประทานยา พักผ่อนมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำสะอาด ประมาณ 5-7 วัน หรือจนอาการดีขึ้น
โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิต ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (2) เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป (5) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ (6) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการด้วย และ (7) ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง
ส่วนแนวโน้มและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 มีการแพร่ระบาดมากกว่าปี 2565 มาก จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 ต.ค.66 จำนวน 9,431 ราย มีผู้เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี รองลงมาอายุ 15 - 34 ปี และ 0 - 4 ปี ตามลำดับ มีอัตราผู้ป่วยสะสม 3 อันดับแรกในเขตจตุจักร เขตสะพานสูง และเขตหนองจอก ตามลำดับ โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเขตประเวศ เขตบางกะปิ และเขตจตุจักร ตามลำดับ
ทั้งนี้ สนอ. ร่วมกับ สำนักงานเขตพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ โดยสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง
นอกจากนั้น สนอ.ยังร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ผ่านโรงเรียนนำร่องที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อให้ครูและนักเรียนตัวแทนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถป้องกันได้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้เลือดออกด้วยการเฝ้าระวังยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. 1ข. คือ
ปิด - ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงไข่ เปลี่ยน - เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ ปล่อย - ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับ - ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติ - ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ขัด - ควรขัดขอบภาชนะเป็นประจำเพราะยุงลายชอบวางไข่ตามขอบภาชนะ หรือมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง เป็นต้น
ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองและการสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เช่น สื่อมัลติมีเดีย แอปพลิเคชัน หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยให้รับประทานยาพาราเชตามอล (Paracetamol) และให้หลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
ทั้งนี้ สนอ.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีการประชุมทุกสัปดาห์และแจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้กับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาด รวมทั้งอบรมพัฒนาความรู้และจัดการอบรมซ้อมแผนการดำเนินงานการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที