สวทช. ประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลแก่นักวิจัย 4 ศูนย์แห่งชาติ ที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนาเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของสวทช. ในงาน NSTDA Inventors Day 2008

ข่าวทั่วไป Friday May 2, 2008 14:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สวทช.
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology Licensing Office:TLO) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. จัดงานมอบประกาศเกียรติคุณและรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักวิจัยจาก 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติในงาน NSTDA Inventors Day 2008 โดยแบ่งเป็นผลงานการยื่นคำขอสิทธิบัตร จำนวน 72 คำขอ และรางวัลให้กับนักวิจัยที่ผลงานได้รับการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้วจำนวน 9 ผลงาน
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่าสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี ( TLO ) มีหน้าที่มุ่งบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำประโยชน์สู่ธุรกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิผล เป็นกลไกสำคัญของการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ สวทช. และเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการใช้สิทธิเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยจะทำหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี การพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี และแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่เป็นธรรม อันจะก่อประโยชน์ต่อองค์กร เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว
ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการสร้างงานวิจัยและพัฒนา กระตุ้นให้นำผลงานเหล่านั้นไปขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบของการจดสิทธิบัตร
“การจัดงาน NSTDA Inventors Day 2008 ในวันนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการสร้างงานวิจัยและพัฒนาอันมีทรัพย์สินทางปัญญาที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่จะช่วยการกระตุ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจการสร้างผลงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะให้เงินค่าตอบแทนแก่ทีมนักวิจัยของ สวทช. ในกรณีที่ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ในอัตรา 5,000 บาท ต่อหนึ่งคำขอ และในกรณีที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร จะได้รับค่าตอบแทน 30,000 บาท”
รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สิทธิบัตร เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญและก่อประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากการยื่นขอรับสิทธิบัตรต้องมีการเปิดเผยการประดิษฐ์ ซึ่งจะทำให้สังคมรับรู้ถึงผลงานวิจัยและพัฒนา ผู้ที่ทำการวิจัยสามารถใช้ข้อมูลที่มีการเปิดเผยในการวางแผนการทำวิจัยและพัฒนาของตนเอง เพื่อป้องกันการทำวิจัยซ้ำซ้อน จึงไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินงบประมาณ และแรงงานเพื่อทำวิจัยและพัฒนาที่ซ้ำซ้อน การยื่นจดสิทธิบัตรเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสิทธิ ด้วยการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในงานที่ ยื่นจด จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยที่ทำและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
จนปัจจุบัน (พ.ศ.2534 — มีนาคม พ.ศ. 2551) สวทช. ได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรในประเทศ 372 คำขอ และต่างประเทศ 46 คำขอ ได้รับจดทะเบียนในประเทศ 57 ฉบับ และต่างประเทศ 5 ฉบับ ซึ่งผลงานที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรได้ต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญของนักวิจัย สวทช. มีความตระหนักถึงความพยายามของนักวิจัยที่สร้างสรรค์งานวิจัยอันทรงคุณค่านี้
การมอบประกาศเกียรติคุณในงาน NSTDA Inventors Day 2008 ในครั้งนี้ มีผลงานรวมทั้งสิ้น 81 ผลงาน แบ่งเป็น
ผลงานวิจัยที่ยื่นคำขอการจดสิทธิบัตรจำนวน 72 คำขอ
(ในประเทศ 70 คำขอ,ต่างประเทศ 2 คำขอ)
1. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 20 คำขอ
2. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ 13 คำขอ
3. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ 32 คำขอ
4. ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ 5 คำขอ
5. สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ 2 คำขอ
ผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จำนวน 9 ผลงาน (ในประเทศทั้งหมด)
1. อุปกรณ์โพลาไรเซชั่นที่หมุนได้ (NECTEC)
2. โครงสร้างระบบชดเชยโพลาไรเซชันโหมดดิสเพอร์ชันแบบดิจิตอล (NECTEC)
3. วิธีลดแสงรบกวนในแป้นคีย์สัมผัสเชิงแสงโดยอาศัยเทคนิคการมัลติเพล็กซ์ลำแสง (NECTEC)
4. อุปกรณ์ควบคุมการจุดระเบิดในเครื่องยนต์สันดาปภายใน (NECTEC)
5. การสังเคราะห์อนุพันธ์ของไตรเมทโทรพริม (Trimethoprim) เพื่อนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรีย
(BIOTEC)
6. วัสดุฝังในทางการแพทย์โดยตรงจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติและกรรมวิธีการผลิตวัสดุดังกล่าว
(MTEC)
7. กรรมวิธีการแยกเนื้อยางออกจากหางน้ำยางธรรมชาติ โดยใช้โพลิเมอร์ที่ไวต่อความร้อน (MTEC)
8. อุปกรณ์เคลือบฟิล์มโลหะออกไซด์จากด้านล่างโดยการไพโรไลซิสละอองสารละลายตั้งต้นที่เกิดจากคลื่นอัลตร้าโซนิก (MTEC)
9. แผงรับความร้อนเพื่อทำน้ำร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้า (SOLARTEC)
สื่อมวลชนสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476-8
www.tmc.nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ