วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จัดโครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 7

ข่าวทั่วไป Friday September 23, 2005 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--124 คอมมูนิเคชั่นส
โครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 7
7th Asian Symphonic Band and Wind Ensemble Competition
ประวัติความเป็นมา
วงดุริยางค์เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2395 มีทหารแตร 2 ท่านจากอังกฤษ ชื่อร้อยเอกน็อก กับร้อยเอกอิมเปย์ เป็นผู้ดูแลกองดุริยางค์ที่วังหน้าและวังหลวง ต่อมา มร. จาคอฟไฟท์ (บิดาของพระเจนดุริยางค์) ได้เข้ามารับราชการทหารอยู่ที่กองดุริยางค์กองทัพบก ระหว่างปี พ.ศ. 2410-2453 เป็นผู้ดูแลกองดุริยางค์ทหารบก ในปี พ.ศ. 2421 กองดุริยางค์ทหารเรือจัดตั้งขึ้นโดยมีอาจารย์ฟุสโก ชาวอิตาเลียนเป็นผู้ดูแล
การดนตรีของไทยพัฒนาอยู่ในกองทัพตลอดเวลา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้จัดตั้งกรมมหรสพ และตั้งวงเครื่องสายฝรั่งหลวง วงกองทหารเสือป่า โดยมีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้ดูแล
ในปี พ.ศ. 2498 พระเจนดุริยางค์ได้จัดอบรมครูลูกเสือให้มีความรู้ด้านดนตรีเพื่อควบคุมกองดุริยางค์ลูกเสือมีครูประจำกองลูกเสือทั่วประเทศเข้ารับการอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนประจำจังหวัดใหญ่ ทำให้โรงเรียนประจำจังหวัดมีวงดุริยางค์ประจำโรงเรียน ทำหน้าที่บรรเลงนำกองลูกเสือ นำขบวนกีฬา นำกิจกรรมอื่นๆ แห่ศพ แห่นาค เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2524 กรมพลศึกษาได้ร่วมมือกับธนาคารทหารไทยได้จัดงานประกวดวงโยธวาทิตขึ้นเพื่อฉลองวันเด็กแห่งชาติ และได้เชิญวงดุริยางค์ลูกเสือ 5 โรงเรียนด้วยกันเข้าร่วมงาน
ในปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ การประกวด วงโยวาทิตแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่วงที่ชนะเลิศการประกวดประเภทหญิง
ในปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่วงผสม ชาย-หญิง
ในปี พ.ศ. 2541 บริษัทสยามกลการได้จัดประกวดวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษาประเภทเดินแถวและแปรขบวน
ในปี พ.ศ. 2542 เป็นปีแรกที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดประกวด วงดุริยางค์ เครื่องเป่านานาชาติขึ้น และมีเงินรางวัลสูงที่สุดในประเทศไทย รางวัลชนะเลิศ เป็นเงิน 1 ล้านบาทรองชนะเลิศมี 4 รางวัลๆ ละ 1 แสนบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดย โรงเรียนมัธยมศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ได้รับเงินรางวัลที่ 1 และปี พ.ศ. 2543 เป็นปีที่ 2 ที่จัดให้มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี แห่งวันพระราชสมภพในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมี โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัยได้รับรางวัลที่ 1 และปี พ.ศ. 2544 เป็นปีที่ 3 จัดให้มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 220 ปี กรุงเทพมหานคร โดยโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยได้รับรางวัลที่ 1 และปี พ.ศ. 2545 เป็นปีที่ 4 จัดให้มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 220 ปี กรุงเทพมหานคร โดยวงดุริยางค์เดอะ ซี.วาย.ซี แบนด์ ประเทศไต้หวัน (The C.Y.C Band - Taiwan) ได้รับรางวัลที่ 1 และปี พ.ศ.2546 ได้จัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยวงดุริยางค์โรงเรียนอรรถวิทย์พาณิชยการ ได้รับรางวัลที่ 1
ในปี พ.ศ. 2547 ได้จัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดยวงดุริยางค์โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ได้รับรางวัลที่ 1
หลักการและเหตุผล
การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 7 (The Seventh Asian Symphonic Band Competition) เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของวงดุริยางค์เครื่องเป่าที่จัดการประกวดขึ้นในประเทศไทย ให้มีความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นดุริยกวี เป็นอัครศิลปิน และทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยและชาวโลก โดยแต่ละวงจะบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงประจำชาติ และเพลงเลือกอื่นๆ
ปัจจุบันประเทศไทยมีวงดุริยางค์เครื่องเป่า (โยธวาทิต) จำนวนมาก ในแต่ละปีวงดุริยางค์เครื่องเป่าจากสถาบันต่างๆ เดินทางเพื่อไปประกวด ณ ต่างประเทศบ่อยมาก ทุกปีประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าในการเสียค่าใช้จ่ายให้กับประเทศที่มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งประเทศไทยได้ส่งวงดุริยางค์เครื่องเป่าเข้าร่วมกับประเทศต่างๆ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และแคนาดา เป็นต้น
วงดุริยางค์ต่างประเทศที่จะเข้าประกวดครั้งนี้คือประเทศในทวีปเอเชียใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นอุษาคเนย์ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน บรูไน เกาหลี ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย เข้าร่วมแข่งขัน ในการจัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติครั้งที่ 1-6 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้รับการยอมรับจากนานาชาติและประชาชนทั่วไป โดยมีโรงเรียนต่างๆได้ให้ความสนใจกับการจัด งานประกวดเครื่องเป่าเป็นจำนวนมาก การจัดประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติได้จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับวงดุริยางค์เครื่องเป่าไทยได้เข้าร่วมประกวดในระดับนานาชาติมากขึ้น ช่วยกระตุ้นบรรยากาศทางด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี และรวมถึงการส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด รวมทั้งจะได้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองด้านดนตรีในเวทีระดับนานาชาติขึ้นในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อรณรงค์ให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าของโรงเรียนทั่วประเทศไทย ได้แสดงศักยภาพทางด้านดนตรีในระดับนานาชาติ
2. เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมดนตรี
3. เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองของเยาวชนไทยในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ไปพึ่งพายาเสพติด
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ประเทศไทยได้เผยแพร่ชื่อเสียงทั่วเอเชีย ในการเป็นเจ้าภาพการจัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นการนำรายได้เข้าประเทศเนื่องจากจะมีวงดุริยางค์จากนานาชาติมาร่วมประกวด อาทิ ประเทศสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น และเยาวชนไทยได้มีเวทีระดับนานาชาติในการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่า รวมทั้งยังได้สืบสานศิลปวัฒนธรรมดนตรี และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนารสนิยมทางด้านดนตรี
วัน เวลา และสถานที่
ประกวดรอบแรก
วันที่ 26 — 29 ตุลาคม 2548
ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เช้าเวลา 09:00 — 12:00 น. บ่ายเวลา 14:00 — 18:00 น.
รอบชิงชนะเลิศ
วันที่ 30 ตุลาคม 2548
ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เวลา 09:00 — 16:00 น.
วิธีการประกวด
1. วงบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ 1 เพลง
2. บรรเลงเพลงประจำชาติ 1 เพลง
3. บรรเลงเพลงเลือกได้มากกว่า 1 เพลง
4. เวลาการบรรเลงไม่เกิน 30 นาที
5. ประกวดในรอบแรกวันละ 5-7 วง
6. รอบชิงชนะเลิศ 5 วง
7. การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นสิ้นสุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ