กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศเพิ่มความระมัดระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในช่วงระหว่างวันที่ ๑ — ๕ พฤษภาคมนี้ เพราะจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า จะมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ แนะให้ติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา จัดเวรยามเฝ้าระวังในช่วงที่มีฝนตกหนัก และหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะนี้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนได้เคลื่อนเข้าสู่อ่าวมะตะบัน ประเทศพม่าแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี เป็นต้น ประกอบกับพายุไซโคลน “นาร์กีส” ที่ก่อตัวในตอนกลางของอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย กำลังจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ และจะเข้าสู่ประเทศพม่าในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพลมฟ้าอากาศของประเทศไทย อาจทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องไปอีก ในระหว่างวันที่ ๒ - ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ราบเชิงเขา ใกล้ลำห้วย เนินหน้าหุบเขา หรือเคยมีรอยดินเลื่อน ดินแยกบนภูเขา ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยให้หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ในช่วงที่มีฝนตกหนักควรจัดเวรยามเฝ้าระวัง หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งมักเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม หากพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติที่บ่งชี้ว่าอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม เช่น มีฝนตกติดต่อกันในพื้นที่นานกว่า ๖ ชั่วโมง
หรือปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๑๐๐ มม. ต่อวัน มีเสียงดังมาจากป่าต้นน้ำ สัตว์ป่าแตกตื่น น้ำในลำห้วยเปลี่ยนสีเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา และเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่มได้ในไม่ช้า ให้เตรียมการอพยพไปสู่พื้นที่ปลอดภัยในทันที โดยในการอพยพ ให้อพยพไปตามเส้นทางที่พ้นจากแนวการไหลของดินถล่ม หรือขึ้นไปอยู่บริเวณที่สูงจะปลอดภัยมากกว่า ทั้งนี้
ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งกำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมทางด้านกำลังคน เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งประสานให้อาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) เตรียมพร้อมติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตรวจวัดปริมาณน้ำในเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน หากเลยขีดแดงให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เร่งอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะนี้