นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อภาพและข้อความในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการปล่อยตั๊กแตนคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการทำบุญนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อและขอความร่วมมือให้หยุดการกระทำดังกล่าว เนื่องจากตั๊กแตนเป็นศัตรูของพืชเศรษฐกิจสำคัญมากกว่า 34 ชนิด ทั้งพืชตระกูลข้าว พืชตระกูลถั่ว ไม้ผลและพืชผักต่าง ๆ โดยฝูงตั๊กแตนสามารถเข้าไปกัดกินและทำลายพืชในแปลงตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถกินอาหารได้ถึง 3 เท่าของน้ำหนักตัว ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรเป็นวงกว้าง รวมทั้งสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวดเร็ว เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งถ้าไม่เร่งกำจัดอาจเกิดการระบาดของตั๊กแตนเพิ่มขึ้น 100 เท่า ในปีถัดไปได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดตั๊กแตน ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกพืชอย่างสม่ำเสมอ กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก ไถพรวนและตากดินหลายครั้ง เพื่อกำจัดไข่ตั๊กแตน และใช้ตาข่ายหรือสวิงจับตั๊กแตนระยะตัวเต็มวัยเพื่อนำไปประกอบอาหาร ให้ใช้ชีวภัณฑ์ เช่น เมตาไรเซียม หรือบิวเวอเรีย ให้นำชีวภัณฑ์โรยบนดินหลังปลูกพืช เพื่อกำจัดไข่และตัวอ่อนตั๊กแตน หากพบการระบาดรุนแรงให้ใช้เหยื่อพิษโดยมีอัตราส่วน ดังนี้ น้ำ 1 ลิตร เกลือแกง 30 กรัม แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) 30 กรัม สารจับใบ 5 มิลลิลิตร และสารกำจัดแมลงคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50% SP 30 กรัม ผสมให้เข้ากัน แล้วนำกระดาษขนาด A4 ตัดเป็น 4 ส่วน แช่สารละลายเหยื่อพิษนาน 10 วินาทีผึ่งพอหมาด แล้วนำไปเสียบตามซอกต้นพืชสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร วางกับดักซ้ำทุก 3 วัน จนกว่าตัวเต็มวัยจะลดลง กรณีใช้การพ่นสารเคมี พ่นเฉพาะช่วงระยะตัวอ่อนเท่านั้น เช่น ไดฟลูเบนซูรอน 25%WP อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ลูเฟนนูรอน5%EC อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
สำหรับกรณีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าเพื่อการค้าที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากของเกษตรกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก ใช้ต้นทุนต่ำ และได้รับผลตอบแทนสูง ทำให้ปัจจุบันมีการเลี้ยงกว่า 58 จังหวัดทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงตั๊กแตนประมาณ 20,000 ราย และมีปริมาณผลผลิตประมาณ 157,749 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2566) แต่ด้วยประเทศไทยเคยประสบปัญหาการระบาดของตั๊กแตนปาทังก้าซึ่งสร้างความเสียหายกับพืชเศรษฐกิจสำคัญในหลายจังหวัด แต่หากเกษตรกรละเลย หรือขาดความระมัดระวังในการเลี้ยง อาจทำให้ตั๊กแตนปาทังก้าหลุดออกมาทำลายพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งผลให้เกิดการระบาดได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงตั๊กแตนทุกราย ต้องหมั่นสำรวจกรงเลี้ยงหรือโรงเรือน ดูแลรักษาและตรวจสอบรอยรั่วของมุ้งตาข่ายอย่างสม่ำเสมอ ใช้วัสดุคงทนในการทำกรงเลี้ยงหรือโรงเรือน โดยใช้มุ้งขาวที่มีความเหนียว ทนทาน และความถี่ไม่น้อยกว่า 32 ตาต่อตารางนิ้ว ทำประตูเข้า - ออกโรงเรือน 2 ชั้น ใช้ซิป 2 ด้าน และควรปิดประตูกรงเลี้ยงหรือโรงเรือนให้มิดชิด ระมัดระวังประตูเข้า - ออกโรงเรือน ก่อนออกควรไล่ตั๊กแตนไม่ให้ติดประตูทางออก และเคาะภาชนะใส่อาหารก่อนนำออก เพื่อป้องกันตั๊กแตนติดมากับภาชนะ ควรทำความสะอาดวัสดุสำหรับวางไข่และฟักไข่ โดยใช้ความร้อนหรือตากแดดจัดไม่น้อยกว่า 3 วัน ทั้งนี้ต้องพลิกให้โดนแดดอย่างทั่วถึงก่อนนำมาใช้อีกครั้งหรือก่อนนำไปทิ้ง และเน้นย้ำว่าไม่ควรปล่อยตั๊กแตนออกสู่ธรรมชาติ
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน และเกษตรกรไม่ปล่อยตั๊กแตนออกสู่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม เพื่อป้องกันการระบาดรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต