บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 TK มีรายได้รวม 417.6 ล้านบาท ลดลง 16.2% จาก 498.4 ล้านบาท รายได้เช่าซื้อ 306.1 ล้านบาท ลดลง 19.8% จาก 381.5 ล้านบาท รายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 1,254.5 ล้านบาท ลดลง 15.5% จาก 1,484 ล้านบาท กำไรสุทธิ 95.2 ล้านบาท ลดลง 69.6% จาก 312.7 ล้านบาท คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะปัจจัยลบทางเศรษฐกิจยังคงส่งผลในการขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ชี้เงินเฟ้อที่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ย้ำรอติดตามความชัดเจนการเข้ากำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อจาก ธปท. ถือเงินสด 1,915 ล้านบาท เตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์เติบโตแบบยั่งยืนตามกฎเกณฑ์ใหม่
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 3/2566 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 1,254.5 ล้านบาท ลดลง 15.5% จาก 1,484 ล้านบาท กำไรสุทธิ 95.2 ล้านบาท ลดลง 69.6% จาก 312.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2566 รายได้รวม 417.6 ล้านบาท ลดลง 16.2% จาก 498. ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 29.8 ล้านบาท ลดลง 50.4% จาก 60.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนหนึ่ง เกิดจากอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ลดลงตามประกาศ สคบ. ตั้งแต่ วันที่ 10 มกราคม 2566 ด้านคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทฯ ดีขึ้น โดยมีลูกค้าค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 6.7% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับคุณภาพลูกหนี้สิ้นปี 2565
สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ขยายตัวลดลง โดยข้อมูล ณ ตุลาคม 2566 จากธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงจาก 3.6% อยู่ที่ 2.8% และปรับตัวเลขส่งออกใหม่จากเดิมโต -0.5 ถึง -2% เป็น -1 ถึง -2% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกที่ลดลง สอดคล้องกับตัวเลขของตลาดรวมรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยที่ขยายตัวไม่มาก โดยยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ไตรมาส 3 ปีนี้มีจำนวน 458,369 คัน ลดลง 0.1% จาก 458,815 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 9 เดือน รวม 1,462,207 คัน เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 1,369,531 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ ไตรมาส 3 ปี 2566 มีจำนวน 180,739 คัน ลดลง 12.4%
จาก 206,391 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถยนต์ 9 เดือนที่ผ่านมารวม 586,870 คัน ลดลง 7.4% จาก 633,694 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อธุรกิจเช่าซื้อโดยตรง
อย่างไรก็ดี TK ได้ดำเนินกลยุทธ์ขยายพอร์ตสินเชื่อด้วยความระมัดระวังและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะที่บริหารต้นทุนต่าง ๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การกู้เงินในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่บริษัทฯ มียอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในตลาด
ต่างประเทศ การลดการทำงานซ้ำซ้อน รวมทั้งการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ที่สำคัญคือยังคงเน้นการมีสถานะเงินสดให้พร้อมขยายธุรกิจได้ทันที โดย ณ ไตรมาส 3/2566 TK มีเงินสดและเงินฝากที่ 1,915.2 ล้านบาท อีกทั้ง D/E ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 0.17 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่ 0.14 เท่า
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4.193.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% จาก 4,158.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 27% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก มีลูกหนี้รวม 1,338.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จาก 1,070.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 129.6 ล้านบาท ลดลง 1% จาก 131.4 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา จากนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นและสภาวะตลาดในต่างประเทศที่เอื้อโอกาส
"เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 25.5 ล้านคน และจะมีรายได้สูงถึง 2.38 ล้านล้านบาท ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่น ภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานที่ยังคงสูง รวมถึงปัญหาสงครามที่ยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงและปรับตัวลงอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและแรง จากดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่มีนาคม 2565 Fed Fund Rate มีการปรับตัวขึ้นจาก 0% ไปที่ระดับ 5.25% - 5.50% เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 11 ติดต่อกัน และนับเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่สิงหาคม 2550 สูงสุดในรอบ 22 ปี นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 10 ติดต่อกันในรอบ 14 เดือน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของยูโรโซนเท่ากับ 4.0% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 สูงสุดในรอบ 22 ปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย
ตามนโยบายของ ธปท. ปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีนับจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว TK จึงยังคงต้องระมัดระวังในนโยบายการขยายธุรกิจรวมถึงยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ" นายประพลอธิบาย
อย่างไรก็ตาม TK ได้มีการปรับการดำเนินงานและเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยได้ควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 เพื่อลดต้นทุนทางด้าน Credit cost หรือหนี้เสีย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มบริการอื่นนอกเหนือการธุรกิจให้เช่าซื้อ ทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมถึงบริการสำหรับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทฯ และการขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลางและระยะยาวต่อไป ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงติดตามการเข้ามากำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด หรือมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้มาตรการต้นปี 2567 ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และมาตรการใหม่ และได้เตรียมเงินสดพร้อมใช้ขยายธุรกิจในทันทีที่ทุกอย่างชัดเจน