การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มจำนวนของประชากรโลก รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านภาวะขาดแคลนอาหารกระจายตัวอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก หรือการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอต่อความต้องการและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายของนานาประเทศที่ต้องการแก้ปัญหาร่วมกัน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen's University Belfast (QUB) สหราชอาณาจักร จัดตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตงานวิจัยระดับโลกที่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดเตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023: Global Summit on the Future of Future Food ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต
ศ.ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร และศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Queen's University Belfast กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ แม้ว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย แต่ที่จริงแล้วไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่แค่มีอาหารเพียงพอ แต่ต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย อีกทั้งประเทศไทยยังตั้งเป้าที่จะเป็นครัวของโลก ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอ ด้วยวิธีที่ปลอดภัยและยั่งยืน
"ต่างชาติชื่นชมและชื่นชอบอาหารไทยมาก เราใช้อาหารไทยเป็นทูต เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ชวนให้เขาอยากมาเที่ยวเมืองไทย ทำไมเขาถึงเลือกรับประทานอาหารไทย เพราะนอกจากอาหารไทยอร่อยแล้ว เขายังมั่นใจในคุณภาพด้วย หรือเมื่อไปซูเปอร์มาร์เก็ตเขาก็จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศไทยเพราะเขามั่นใจในคุณภาพแม้ว่าจะราคาสูงกว่าที่มาจากประเทศอื่น อย่างเช่น กุ้ง กุ้งไทยเป็นกุ้งที่อร่อยและมีคุณภาพดีกว่ากุ้งของที่อื่น เพราะเราเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพแตกต่างจากคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ทั่วโลกมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่เป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรจนไปถึงเป็นอาหาร มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย"
ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. มีความร่วมมือกับ Queen's University Belfast ซึ่งมีความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารในระดับโลก ในการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางอาหารมายาวนานกว่า 10 ปี และในปี 2565 ได้ขยายความร่วมมือสู่การจัดตั้ง ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ มีความรู้ความสามารถพร้อมสำหรับทำงานในภาคอุตสาหกรรม
"ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารทำให้เรามีเครือข่ายทั้งในเอเชียและยุโรป สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ อย่างเราเชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้ง เขาก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นได้ หรือเราอาจจะนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของอาหารในแป้งสาลีของเขามาประยุกต์ใช้กับข้าวหรือผลิตภัณฑ์อื่นของเราได้ นอกจากนี้ศูนย์วิจัยฯ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต้องการได้ง่ายขึ้น รวมถึงสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม" ศ.ดร.นิศรา กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารมุ่งวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต เพื่อลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร รวมทั้งมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเทศและศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในเรื่องสารพิษจากรา เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยและอาเซียนให้มีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในระดับโลก
ศ.ดร.นิศรา กล่าวว่า ตัวอย่างเทคโนโลยีและงานวิจัยที่พัฒนาโดยนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารหลายเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ (biocontrol technology) ชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมโรคพืชรวมทั้งย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดินทางการเกษตร เทคโนโลยี MycoSMART ชุดตรวจสารพิษจากเชื้อราในอาหารหรือวัตถุดิบการเกษตรด้วยเทคนิคไมโครอะเรย์ที่ตรวจสารพิษจากราได้หลายชนิดพร้อมกัน และเทคโนโลยี Agri-Mycotoxin binder วัสดุลดสารพิษจากราในอาหารสัตว์ เช่น อะฟลาท็อกซิน บี1 (Aflatoxin B1) ซีราลีโนน (Zearalenone) โอคราท๊อกซิน เอ (Ochratoxin A) ฟูโมนิซิน บี1 (Fumonisin B1) และดีอ็อกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol)
"นอกจากนี้ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารกำลังจะจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023 : Global Summit on the Future of Future Food ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ วิธีการจัดหาอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกผ่านการคิดเชิงนวัตกรรม การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารเพื่ออนาคต และความปลอดภัยของอาหารเพื่ออนาคตจากแหล่งต่างๆ หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในระดับนานาชาติที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการผลิตอาหารของโลกที่มีความเพียงพอ ปลอดภัยและยั่งยืน"
ผู้สนใจร่วมงานสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.biotec.or.th/asean-asset2023/ หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 08 2198 9699 หรือ info.asean.asset2023@gmail.com, asean-asset2023@biotec.or.th