ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก และมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 93,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากความต้องการมันสำปะหลังทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อนำไปใช้ผลิตอาหาร พลังงานชีวภาพ และไบโอพลาสติก แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยกำลังประสบปัญหาด้านความสามารถในการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังขาดเสถียรภาพเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้พืชขาดน้ำ ประกอบกับการระบาดของไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรขาดแคลนต้นพันธุ์ปลอดโรคเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลต่อศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลังอื่นๆ และยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ต้องพึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจนี้ ไทยวาซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเกษตรและอาหารเคียงคู่สังคมไทยมากว่า 75 ปี ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงไม่นิ่งนอนใจและได้เร่งพัฒนานวัตกรรมและความยั่งยืนตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ด้วยวิสัยทัศน์ Innovation and Sustainability from Farm to Shelf เพื่อร่วมแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็น 'ไทยวาโมเดล' ที่บูรณาการนวัตกรรมและแนวทางการเพาะปลูกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทยมีความยั่งยืน และสร้างผลผลิตและรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรต่อไป
หทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในฐานะที่ไทยวาเป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมนี้ เราเข้าใจดีถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านเกษตรกรรมไทยไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้เติบโตได้ในอนาคต เราจึงได้นำเสนอไทยวาโมเดลที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อส่งเสริมชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลัก โดยไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเพาะปลูกและผลิตอาหารเท่านั้น แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อทุกคน"
โครงการ ไทยวาโมเดล มุ่งเน้นไปที่การจัดการดินที่ยั่งยืนและการทำการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ ประกอบด้วยเสาหลักใน 3 ด้าน ได้แก่
- การดูแลดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ เพราะหัวใจของไทยวาโมเดลคือการดูแลดินซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเพาะปลูก ไทยวาจึงคิดค้นปุ๋ยชีวภาพ TW8 ขึ้น เพื่อบำรุงและฟื้นฟูดิน ประกอบด้วยจุลินทรีย์ถึง 8 ชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยอินทรีย์วัตถุให้กลายเป็นสารอาหาร ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศลงสู่ดิน และช่วยสร้างสารอาหารที่จำเป็น เช่น ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม โดยเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพ TW8 ได้เองโดยใช้ของเหลือทิ้งจากการเกษตรได้อย่างหลากหลาย เช่น ใบมันสำปะหลัง จึงทำได้ง่าย ช่วยลดต้นทุน แต่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืช
- นวัตกรรมพลาสติกคลุมดินที่ย่อยสลายได้ ไทยวาได้แนะนำพลาสติกคลุมดิน ROSECO ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช แต่ยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาฝนทิ้งช่วงที่เกษตรกรไทยกำลังประสบอยู่ จึงช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสิ้นฤดูกาลเพาะปลูกยังสามารถไถกลบฟิล์มชีวภาพ ROSECO หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะย่อยสลายและกลายเป็นปุ๋ยในดินที่มีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ แนวทางนี้ไม่เพียงสะดวกสำหรับเกษตรกร แต่ยังช่วยบำรุงดิน และลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีอีกด้วย
- ธนาคารท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ไทยวาประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้จากโครงการโรงเรือนกระจกเพื่อการขยายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังแบบเร่งด่วน ซึ่งเป็นโครงการที่ไทยวาร่วมมือกับสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย หรือ TTDI ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เพาะได้ครั้งละ 4-5 ท่อน เป็น 20 ท่อน ปัจจุบันไทยวามีโรงเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 10 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง กาฬสินธุ์ และ ตาก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของบริษัท จึงสามารถจัดหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพสูงให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดไทยวายังสร้างโรงเรือนกระจกในอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งห่างไกลจากไร่มันสำปะหลังแหล่งอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะมีต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้ตลอดทั้งปี
โครงการไทยวาโมเดล เป็นหนึ่งในตัวอย่างความมุ่งมั่นของไทยวาในการนำวิสัยทัศน์ขององค์กรมาพัฒนาเป็นแนวทางที่สร้างคุณค่าให้กับเกษตรกรและสังคม โดยไม่เพียงช่วยรับมือความท้าทายที่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยกำลังเผชิญ แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนเพื่อลดปัญหาที่โลกของเราประสบอยู่ โดยเน้นการการทำการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งไทยวาจะเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป