กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ลอรีอัล (ประเทศไทย)
ความงดงามอันเป็นแบบฉบับที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล...การสั่งสมเรื่องราวและประสบการณ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ความสวยงามของธรรมชาติมีความสมบูรณ์ สามารถสรรสร้างแรงบันดาลใจ ให้มนุษย์ทำสิ่งที่สวยงามยิ่งใหญ่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด... เช่นเดียวกับความแตกต่างของฤดูกาลที่สร้างความสมดุลให้กับโลกใบนี้ ผู้หญิง... มีความแตกต่างในความเหมือน บางคนคิดว่าผู้หญิง เปราะบางและอ่อนแอ แต่ใครจะรู้บ้างว่าพวกเธอต่างเปี่ยมไปด้วยพลัง และความพยายามมุ่งมั่น และมีความคิดสร้างสรรค์อย่างล้นเหลือ เฉกเช่นสตรีในโลกวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ที่นำเอาประสบการณ์แห่งชีวิต มาตกผลึกความคิด และทำการทดสอบกลั่นกรอง ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหาคำตอบที่ซ่อนเร้น...จนได้มาซึ่งผลงานอันยิ่งใหญ่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า การสร้างประโยชน์สุขให้กับทุกชีวิตบนโลกใบนี้อย่างอเนกอนันต์ ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญและมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ดังนั้น บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ผู้นำทางด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อความงาม จึงได้ร่วมกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จัดงานมอบทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปีที่ 6 ขึ้น ซึ่งในค่ำคืนนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และทรงประทานทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยสตรีที่ได้รับการคัดเลือก จากสาขาวัสดุศาสตร์ ประจำปี 2008 นี้ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวีร์ โฮเว่น ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง พอลิอะคริลิกแอซิดบรัช:เมทริกซ์สามมิติชนิดใหม่สำหรับนิวคลีอิกแอซิดไบโอเซนเซอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือสำหรับตรวจลำดับเบสของสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังทำให้การตรวจสอบสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทำได้สะดวกยิ่งขึ้น และ ดร. อัญชลี มโนนุกุล แห่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนากระบวนการขึ้นรูปโลหะผงและผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ช่วยลดปริมาณการนำเข้าชิ้นส่วนปลูกฝังทางการแพทย์จากต่างประเทศ และเพิ่มปริมาณผลิตชิ้นส่วนปลูกฝังทางการแพทย์ซึ่งออกแบบสำหรับสรีระของประชาชนภายในประเทศ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2008 นี้ ได้แก่ ดร. กอบกุล เหล่าเท้ง จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับการศึกษาการควบคุมการสังเคราะห์กรดไขมันใน “รามิวคอร์ รูซิไอ” (Mucor rouxii) ซึ่งจะได้ออกมาเป็น “กรดแกมม่าลิโนเลนิค” (?-linolenic acid, GLA) เป็นกรดไขมันจำเป็นในกลุ่มโอเมก้า 6 ที่มีมูลค่าสูง ที่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ ในอุตสาหกรรมอาหารเสริม เครื่องสำอาง และอาหารสัตว์ ซึ่งน้ำมันที่มี GLA เป็นองค์ประกอบที่มีขายในท้องตลาด เป็นน้ำมันที่ได้มาจากเมล็ดพืชอีฟนิ่งพริมโรส (evening primrose) และ บอราจ (borage) ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถเพาะปลูกพืชเหล่านี้ได้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสม จึงมีการนำเข้าน้ำมันเหล่านี้จากต่างประเทศ ดังนั้นการศึกษาการสังเคราะห์ GLA จาก รามิวคอร์ รูซิไอ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการสะสมลิปิดภายในเซลล์ในปริมาณสูง และสามารถเจริญเติบโตทั้งในรูปเซลล์ยีสต์และเส้นใย จึงสามารถลดต้นทุนในการผลิต GLAจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้ และอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังและพื้นท้องทะเลบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง หลังจากปรากฎการณ์คลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ผลการศึกษาจากภาคสนามโดยการดำน้ำแบบลึกพบว่า ไม่เพียงแต่ปะการังที่อยู่ระดับน้ำตื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ปะการังที่ระดับความลึกถึง 27 เมตร ก็สามารถที่จะได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิด้วยเช่นกัน สำหรับรูปทรงของปะการังที่ได้รับความเสียหายมากสุด ได้แก่ ปะการังแบบโต๊ะ ซึ่งมีความเสียหายมากกว่าร้อยละ 50 ของรูปทรงปะการังที่เสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ผลการศึกษาแสดงความแตกต่างจากแนวคิดเดิมที่มีการคาดการณ์ว่า ปะการังบริเวณน้ำตื้นหรือที่ระดับความลึกน้อยกว่า 10 เมตรเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ และรูปทรงปะการังที่เสียหายนั้นน่าจะเป็นปะการังแบบกิ่งก้าน จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความรุนแรงของคลื่นที่มีต่อพื้นท้องทะเลและปะการังใต้น้ำที่เกิดขึ้นตามลักษณะของภูมิประเทศและโครงสร้างของสิ่งที่กีดขวางทางผ่านของคลื่นสึนามิ บรรยากาศของพิธีเต็มเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมยินดีกับนักวิจัยสตรีทั้งสี่ท่านที่เปรียบประดุจพลังและความงามของฤดูกาลทั้งสี่ ซึ่งได้แก่ วินเทอร์ สปริง ซัมเมอร์ และออทั่ม โต๊ะของแขกผู้มีเกียรติถูกตั้งชื่อตามฤดูกาลต่างๆ โดยมีดอกไม้สวยและสิ่งที่แสดงถึงความงามของฤดูกาลนั้นๆ ประดับตกแต่งไว้อย่างวิจิตรบรรจง เช่น โต๊ะของ วินเทอร์มีการประดับประดาด้วยเกล็ดหิมะ โต๊ะของสปริงมีผีเสื้อตัวน้อยเกาะอยู่เต็มไปหมด ซึ่งในงานนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย มิสเตอร์ โคล้ด รัมเพลอร์ กรรมการผู้จัดการ และ สดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ได้ร่วมกันต้อนรับและดูแลแขกผู้มาร่วมงานกันอย่างคับคั่งด้วยตัวเองตลอดทั้งงาน ได้แก่ผู้มีคุณวุฒิในแวดวงวิทยาศาสตร์และในแวดวง สังคม อาทิ ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์, ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ศ.ดร.มรว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์, ดร. สุจินดา โชติพานิช ศ.ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา, ศ.ดร. วิวัฒน์ ตัณฑะพาณิชกุล, ดร. จรวยพร ธรณินทร์ , คุณหญิงณัฐิกา - สนั่น อังอุบลกุล, คุณหญิงทรงสุดา — ดร. สุวิทย์ ยอดมณี, นายแพทย์ จิโรจน์ สินธวานนท์, แพทย์หญิง นุสรา วงศ์รัตนภัสสร, สินจัย เปล่งพานิช, ไลลา บุณยศักดิ์ ฯลฯ ภายในงานยังมีการขับกล่อมด้วยเพลงบรรเลงที่ไพเราะฉบับอีสต์มีตเวสต์ ด้วย ไวโอลิน, เชลโล และ ระนาดเอก และเสียงขับร้องอันหวานซึ้งทรงพลังของ นภาดา สุขกฤต เคล้าคลอไปกับการรับประทานอาหารมื้อค่ำซึ่งจัดเตรียมเอาไว้อย่างดีที่สื่อถึงผลงายของนักวิจัยในแต่ละท่าน ซึ่งทำให้บรรยากาศของงานเปี่ยมไปด้วยความหมายและสร้างความประทับใจให้กับแขกผู้มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง มร. โคล้ด รัมเพลอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ด้วยทางลอรีอัล ได้ตระหนักถึง การวิจัย ค้นคว้า อันนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุลย์ สมบูรณ์ และงดงามยิ่งขึ้น อีกทั้งวงการวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งวิทยาการทางด้านความงาม ซึ่ง ลอรีอัล เองก็เกิดมาจากการค้นคว้าวิจัยเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลนี้เราจึงอยากสนับสนุนผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักวิจัยสตรีไทยให้ประสบความสำเร็จในงานที่กำลังค้นคว้า เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่จะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ทุกคน เราจึงได้จัดโครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขึ้นทุกปี โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5” โครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด และ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการมอบทุนวิจัยทุนละ 200,000 บาท จำนวน 4 ทุน สำหรับสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) จำนวน 2 ทุน และ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) จำนวน 2 ทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ: 1. ร่วมรณรงค์สร้างโอกาสให้สตรีมีบทบาท และได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น 2. ร่วมประชาสัมพันธ์ความสามารถของสตรีที่เป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัยและวิวัฒนาการสำคัญต่างๆอันมีผลต่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น 3. ร่วมสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสตรีให้มีทุนทรัพย์และความพร้อมในการทำงานวิจัยอันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากขึ้น 4. ร่วมชูความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนให้สตรีสนใจสายงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น 5. ถ่ายทอดเจตนารมย์ของบริษัทลอรีอัล ประเทศไทย ในความมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างโอกาสและส่งเสริมคุณภาพของสังคมไทยให้ สมดุล สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้น “ด้วยลอรีอัล เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักเคมี และในปัจจุบันกว่า 50% ของนักวิจัย 3,000 คนของเราเป็นผู้หญิง เราจึงรู้สึกใกล้ชิดกับงานวิทยาศาสตร์ และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมทำให้บทบาทของสตรีเบื้องหลังวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนยิ่งขึ้น เราหวังว่านักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนจากโครงการของเราจะมีกำลังใจมากขึ้น ว่ามีคนเห็นคุณค่าในงานของเธอ และเราก็หวังว่าเรื่องราวของพวกเธอจะเป็นแรงบันดาลใจอีกต่อหนึ่งให้กับนักวิจัยคนอื่นๆด้วย” มร. โคล้ด กล่าวสรุป