มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จับมือ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ OKMD และ 88 SANDBOX จัดงาน LEARN LAB EXPO มหกรรมการศึกษา ชวนเด็กไทยมา ลอง - เรียน - รู้ มหกรรมตลาดการเรียนรู้ครั้งแรกของไทย โดยมีกิจกรรมช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทักษะของตนเอง รวมถึงการนำเสนอผลงานจากกลุ่ม Startup, การเสวนาจากกูรูในแวดวงการศึกษา ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน LEARN LAB EXPO ว่า OKMD มีหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขณะที่ปัจจุบันแนวคิดตลอดจนการเรียนรู้แตกต่างจากเดิม การส่งเสริมด้านการศึกษาและการเรียนรู้จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ของผู้คน จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 88 SANDBOX จัดงาน LEARN LAB EXPO มหกรรมการศึกษา ชวนเด็กไทยมา ลอง-เรียน-รู้ มหกรรมตลาดการเรียนรู้ครั้งแรกของไทย
"OKMD มีแพสชั่นที่อยากจะทำให้เรื่องใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม "LEARN LAB EXPO" ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ เรียกว่าเป็น Learning Hackathon แรกๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ ตรงนี้เป็นเวทีที่คนมี Pain Point จริง มาช่วยออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่ OKMD มีโจทย์ ทางธรรมศาสตร์และ 88 SANDBOX เขามีวิธีการ นอกจากนี้เรายังมีพาร์ทเนอร์อีกมากมาย ที่มาช่วยกันสร้างเครื่องมือเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา OKMD สร้างสนามเรียนรู้ที่เรียกว่า เพลย์กราวด์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้สนามเด็กเล่นที่เราพยามยามพัฒนามาตลอดกว่า 10 ปี และตอนนี้ได้ พัฒนาการเรียนรู้ที่เด็กและผู้ใหญ่เล่นได้จริงอีกด้วย"ดร.ทวารัฐ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า LEARN LAB EXPO เป็นความร่วมมือครั้งแรกของมธ.กับ OKMD ด้วยแนวคิดตรงกันที่ว่าโลกการเรียนรู้เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์กับโลกสมัยใหม่ ความรู้มีเยอะและออกใหม่ตลอดเวลาต่างกับทักษะซึ่งได้แก่ความสามารถในการทำอะไรให้เก่ง ให้เชี่ยวชาญ ความรู้ล้าสมัยได้ ขณะที่ทักษะนั้นจะติดตัวเราไป ซึ่งมีทั้ง Soft Skills และ Hard Skills และเราอยากทำให้การศึกษาเปิดกว้างไปถึงรูปแบบที่ เด็กออกแบบได้ว่าตนเองอยากเรียนอะไร (Design Your Own Degree) และจบแล้วจะเป็นอะไร เพราะคนที่รู้ดีที่สุดควรเป็นตัวเด็กไม่ใช่สถานศึกษา
LEARN LAB EXPO จึงรวบรวมทุกอย่างไว้ที่นี่ เราหวังที่จะให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงความรู้อย่างกว้างขวางและรอบด้าน ด้วยโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาให้กับประเทศ โดยการสร้างและส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้และการศึกษาในสังคมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างไอเดียจากศูนย์สู่ความสำเร็จ และพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่จำกัดเพศ อายุ อาชีพ หรือระดับการศึกษาของผู้เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ
สำหรับ LEARN LAB EXPO เป็นการจัดงานต่อยอดจากกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ การบ่มเพาะธุรกิจด้านการศึกษาของประเทศ ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป ใช้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และรวบรวม มาจัดเป็นมหกรรมตลาดการเรียนรู้ครั้งแรกของไทย ที่รวมกิจกรรมด้านการศึกษาที่น่าสนใจไว้ด้วยกัน ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับการเรียนรู้และการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพ ตลอดจนพัฒนาตนเอง โดยเน้นสนับสนุนสตาร์ทอัพ ที่สนใจส่งทีมเข้าประกวดแนวทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD x 88 Learnovation Program Award Ceremony ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม (237 คน)
ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม EdSpeak แอปพลิเคชั่น AI English Coach ที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพ Edsy ด้วยเป้าหมายที่จะช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษพร้อมรับคำชี้แนะรายบุคคลอย่างเป็นประจำ ปัจจุบัน EdSpeak อยู่ระหว่างการนำร่องกับโรงเรียน 50 แห่ง ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษา กทม. และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยอง
ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม CodeVenture แพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้งในรูปแบบเกมสำหรับเยาวชน โดยหลักสูตรมาตรฐานระดับสากล และเอไอที่คอยช่วยให้คำแนะนำรายบุคคลที่จะมาเป็นผู้ช่วยครู รวมถึงระบบติดตามการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Aim Global Innovation เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านเอไอ ที่เรียกว่า AIThaiGen โดยเอไอไทยเจนเป็นแพล็ทฟอร์มที่ง่ายต่อการเข้าถึง เรียนรู้ และใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนด้านพื้นฐานเอไอ การเขียนโปรแกรมภาษาไพธอน การประมวลผลภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกเพื่อสร้างโครงงานต่างๆ โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานได้ทางเว็บไซต์ aithaigen.in.th ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือหรือแท็ปเล็ต จึงเปิดโอกาสให้คนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้เทคโนโลยีเอไอได้อย่างง่ายดาย