จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ University of Sheffield ประเทศอังกฤษ เดินหน้าศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 7.6 ล้านปอนด์ หรือราว 336 ล้านบาทในการเปิดศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก The Department of Health and Social Care and the Engineering and Physical Sciences Research Council (EPSRC) as part of the UK Vaccine Network (UKVN) ความร่วมมือดังกล่าวเป็นหนึ่งในการต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ University of Sheffield ซึ่งได้ทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนางานวิจัย รวมถึงด้านการเรียนรู้และการเรียนการสอนร่วมกันตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการภายใต้การดูแลของ Prof.Tuck Seng Wong จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการและผู้อำนวยการร่วม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวัคซีนคุณภาพสูง ที่เข้าถึงได้ง่ายและตอบสนองการรักษาโรคที่แพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างทันท่วงที อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก โรคพิษสุนัขบ้า โรคตับอักเสบ และวัณโรค ผ่านการพัฒนาการผลิตวัคซีนใน 3 รูปแบบ ได้แก่ วัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (Messenger RNA (mRNA) Vaccine) และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccine)
นอกจากนี้ยังมีการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยในราชอาณาจักร 4 แห่ง ได้แก่ University of Sheffield, University of Cambridge, University of York, University of Kent และองค์กรใน 5 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ได้แก่
- KinGen Biotech (Vaccine manufacturer, Thailand)
- Baiya Phytopharm (Vaccine manufacturer, Thailand)
- Pharmaniaga (Vaccine manufacturer, Malaysia)
- Solution Biologics (Vaccine manufacturer, Malaysia)
- Duopharma Biotech (Vaccine manufacturer, Malaysia)
- Malaysia Genome and Vaccine Institute (National research institute, Malaysia)
- Research Institute for Tropical Medicine (Governmental agency, the Philippines)
- University of the Philippines Manila (University, the Philippines)
- Pasteur Institute - Ho Chi Minh City (National research institute, Vietnam)
- Bandung Institute of Technology (University, Indonesia)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับจาก QS World University Rankings เป็นมหาวิทยาลัย ชั้นนำอันดับต้นของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Innovations for Society)
มหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ (University of Sheffield) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัยการผลิตวัคซีน ซึ่งมีรางวัลการันตีจากหลายสถาบัน นอกจากนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ Wellcome Leap R3 ในการก่อตั้งศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีน mRNA ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ เพื่อพัฒนากระบวนการการผลิตวัคซีนให้ก่อเกิดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://www.sheffield.ac.uk/cbe/news/sheffield-lead-ps76-million-uk-south-east-asia-vaccine-manufacturing-research-hub