"เทิร์นทูอาร์ต" แปลงวัสดุเหลือใช้ สู่ "โปรดักท์ดีไซน์" ช่วยโลก-ชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday November 16, 2023 17:35 —ThaiPR.net

คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์งานศิลปะจากเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อจัดการกับปัญหาใหญ่ในขณะนี้ จนกลายเป็นธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน และทำให้กิจการของ "บริษัทเทิร์นทูอาร์ต จำกัด" ได้รับรางวัล "เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ" จากมูลนิธิสัมมาชีพในปีนี้

บริษัทเทิร์นทูอาร์ต เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ และบริการออกแบบผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ ที่ใครๆ อาจจะเห็นว่าเป็น "ขยะ" บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งโดย  "วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์" ภายใต้แบรนด์  WISHULADA  

ความโดดเด่นของบริษัท คือ การนำ "ความคิดสร้างสรรค์" มาจัดการปัญหาขยะผ่านงานศิลปะ (Art Installation) และผลิตภัณฑ์ (Product Design) จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว  ชิ้นงานยังมีส่วน "สร้างแรงบันดาลใจ" ในวงกว้าง ให้ผู้คนให้เห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ ทั้งยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาให้กับโลกใบนี้ร่วมกัน  

ในแง่การตลาด ธุรกิจนี้ถือว่าสามารถตอบโจทย์เทรนด์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความใส่ใจ จนเกิดเป็นโอกาสทางการค้า โดยผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  

นอกจากนี้ การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ยังสามารถ "กระจายรายได้" สู่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ จากการจ้างงานคนในพื้นที่และพัฒนาทักษะฝีมือ 

        "ความคิดสร้างสรรค์สำคัญมากในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขยะที่มีมหาศาล  ขยะเหล่านี้จะลดลงได้ ต้องผ่านการคิดตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นจิตสำนึกพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนไม่ว่าอาชีพใดควรมี  และทำในแบบที่ตัวเองถนัด  

ในกรณีของนักออกแบบ ศิลปิน และสถาปนิก คือกระบวนการออกแบบ สร้างสรรค์ชิ้นงาน ถ้าคำนึงถึงแต่เรื่องความสวยงามแปลกตาอย่างเดียว ขยะก็จะเกิดขึ้นเต็มไปหมด" 

เธอยังพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า อยากให้มองว่าคนตัวเล็กๆทุกคนสามารถช่วยโลกได้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป คุณจะเป็นใคร คุณก็สามารถช่วยโลกได้ !

ในส่วนของ "เทิร์นทูอาร์ต" เน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุเหลือใช้ กลับมาใช้ประโยชน์ โดยแบ่งเป็น วัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต เช่น เศษผ้า เศษไม้ ผ้าตัวอย่าง พลาสติกตัวอย่าง เหล็กตัวอย่าง หรือของเหลือทิ้งต่างๆ และวัสดุเหลือใช้จากการบริโภค เช่น ฝาขวด แก้วน้ำ ขวดพลาสติก ช้อน ส้อม ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถรวบรวมวัสดุเหลือใช้ได้มากกว่า 40 ประเภท นำกลับมาสร้างมูลค่า เช่น นำมาทำเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าไลฟ์สไตล์ โคมไฟ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

การผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ยังเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับ "ชุมชน" หลายแห่ง  ได้แก่ ชุมชนในจ.สมุทรสาคร นครปฐม ที่เน้นเรื่องการเย็บกระเป๋าจากเศษผ้า การนำกล่องนมมาทำตะกร้า ขณะที่ บุรีรัมย์ และพะเยา จะเน้นการทำพรม และขึ้นชิ้นงานเบาะจากเศษผ้า  "วิชชุลดา" เล่า

"แต่ละชุมชนจะมีความถนัดที่แตกต่างกัน เราไปลงพื้นที่ไปถามว่าเขาถนัดอะไร และในพื้นที่มีทรัพยากรอะไรบ้าง บางคนถนัดงานเย็บผ้าเราก็เข้าไป สร้างสรรค์เทคนิคต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด หรือบางคนถนัดเรื่องการทำอะไหล่ชิ้นส่วนเล็กๆ เราก็เข้าไปต่อยอดให้เปลี่ยนพลาสติกเหลือใช้เป็นดอกไม้ หรืองานขึ้นรูปต่างๆ 

บางคนถนัดเรื่องการเชื่อมต่อโลหะ เราก็เข้าไปต่อยอดเรื่องการเชื่อมโครงสร้างต่างๆ เป็นต้น"

จุดมุ่งหมายของการทำงานร่วมกับชุมชน นอกจากจะเป็นการกระจายรายได้แล้ว  เจ้าตัวระบุว่า ยังต้องการให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของชิ้นงานนั้นๆ  ดังนั้น ในการลงพื้นที่จะเน้นการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับชุมชน จนตกผลึก  ชุมชนจึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตเพียงเท่านั้น การจัดหาวัสดุเหลือใช้ส่วนหนึ่งก็จะมาจากภายในชุมชน เพื่อลดปัญหาขยะชุมชน 

"เราจัดหาวัสดุเหลือใช้จากที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน ด้วยการซื้อ และบางส่วนจะมีผู้นำมาบริจาค  โดยตั้งแต่ตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมมาในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน  พบว่า การนำวัสดุเหลือใช้มาผลิตสินค้า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 56,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่จำหน่าย จะระบุข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกภูมิใจที่ใช้สินค้ารักษ์โลก"

ขณะที่การทำตลาด ปัจจุบันสินค้าของ WISHULADA มีวางจำหน่ายในร้านแนวผลิตภัณฑ์รักษ์โลกหลายแห่งในศูนย์การค้าในไทย รวมทั้งที่มาเลเซียและญี่ปุ่น ถือเป็นความสามารถในการขยายกิจการได้อย่างน่าสนใจ

นอกเหนือจากความสำเร็จในการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์แล้ว ยังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่บริษัทจ้างงานมา  

 "เราอยากให้คนหันมาใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ ต่อยอดถึงชุมชนให้ได้ เพราะเบื้องหลังการทำงานไม่ได้มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่ได้เป็นโรงงานอุตสาหกรรม  กว่าจะได้กระเป๋าแต่ละใบ มีผู้คนที่เกี่ยวข้องหลายราย ทั้งคนที่ค่อยๆตัด เย็บ ถัก สาน นี่คือมูลค่าที่เกิดขึ้น

และเราไม่อยากให้มองว่า สินค้าชุมชนต้องมีราคาถูก ต้องต่อราคา แต่อยากให้คนซื้อ ซื้อสินค้าเพราะเป็นงานที่มีคุณภาพ สวยงามถูกใจ"

และทั้งหมดนี้คือการทำงานของ "เทิร์นทูอาร์ต" วิสาหกิจเพื่อสังคม ในการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน (People) ในการรวมกลุ่มกันทำงานไม่ต้องย้ายถิ่น เกิดประโยชน์ต่อโลก (Planet) จากการหมุนเวียน ใช้ซ้ำวัสดุเหลือใช้ ที่สามารถวัดผลลัพธ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างกำไร (Profit) ความยั่งยืนซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ