นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยประสานสำนักงานเขตพื้นที่ร่วมตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ขนาด 6.4 ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.66 ไม่พบอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยและการควบคุมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ (1) ช่วงการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร นับตั้งแต่กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564 บังคับใช้ ซึ่ง สนย.ได้กำชับตรวจสอบอาคารที่เข้าข่ายตามกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างเคร่งครัด (2) ช่วงดำเนินการใช้อาคาร อาคารที่เข้าข่ายตามมาตรา 32 ทวิ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมชน โรงมหรสพ อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรม หรือด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณีตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและระบบการจัดแสงสว่าง ระบบการเตือน การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเครื่องกล หรือระบบอื่น ๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องภยันตรายต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคาร (แบบ ร.1) โดย สนย.ได้วางแผนเข้าตรวจสอบอาคารที่ได้รับใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคาร (แบบ ร.1) ทุกอาคาร เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและให้คำแนะนำแก่เจ้าของอาคารในการดูแลรักษาสภาพอาคารให้มีความปลอดภัยต่อสภาพการใช้งานอยู่เสมอ หากพบว่า มีความผิดปกติด้านความมั่นคงแข็งแรงของอาคารจะแจ้งให้เจ้าของอาคารจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้าตรวจสอบอาคารอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยปี 2566 ได้เข้าตรวจสอบแล้วมากกว่า 350 อาคาร
นอกจากนั้น สนย.ได้ติดตั้ง Sensor ที่ด้านบนอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง โดยกำหนด ค่าการแจ้งเตือนเป็น 0.015 m/s2 (1.5 milli-g) เป็นค่าความสั่นสะเทือนที่คนสามารถรู้สึกได้ โดยค่าความสั่นสะเทือนที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารจะมีค่าประมาณ 0.1 - 0.2 m/s2 ซึ่งจะมากกว่าค่าที่คนรู้สึกได้ประมาณ 10 เท่า และเครื่องมือตรวจวัดค่าความสั่นสะเทือนขณะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 17 พ.ย.66 เป็นค่า 0.023 m/s2 (2.3 milli-g) คนรู้สึกได้ รวมทั้ง สนย.อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อติดตั้ง Sensor ตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนและประเมินกำลังต้านทานการรับแรงแผ่นดินไหว จำนวน 7 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) เจริญกรุงประชารักษ์ 24 ชั้น อาคาร 72 พรรษา รพ.กลาง 20 ชั้น อาคารอนุสรณ์ 100 ปี (ยกเลิกเนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอทุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการเอง) รพ.วชิระ 19 ชั้น อาคารเพชรรัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 24 ชั้น รพ.ตากสิน 17 ชั้น อาคารพระเจ้าตากสิน รพ.ตากสิน 20 ชั้น อาคารธนบุรีมหาสมุทร และอาคารธานีนพรัตน์ 35 ชั้น ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง (ทดลองติดตั้งแล้ว)
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ.ได้เตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 - 2570 และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม รวมทั้งจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยพร้อมยานพาหนะ อุปกรณ์สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยชีวิตจากอาคารถล่ม สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากมีสถานการณ์แผ่นดินไหวและอาคารถล่มเกิดขึ้น สำหรับวิธีการเอาตัวรอดตามหลักวิชาการ ผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวจะต้องหาพื้นที่แข็งแรง เช่น เตียง โต๊ะ ตู้ และพยายามหลบบริเวณมุมของสิ่งเหล่านั้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สิ่งของดังกล่าวจะเกิดการพาดระหว่างกัน เป็นลักษณะสามเหลี่ยมชีวิตที่มีลักษณะเป็นช่องว่างสามารถคลานได้ และเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วพยายามออกจากอาคารให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง