สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โดยเฉพาะขณะนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ เน้นย้ำป้องกัน ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ส่วนการรักษาส่วนใหญ่ เป็นการรักษาตามอาการ หากไม่ดีขึ้นรีบไปพบแพทย์ทันที
แพทย์หญิงวันวิสาข์ กาญจนาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัด สงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ในกลุ่มอายุ 0-5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2566 พบผู้ป่วย จำนวน 27,673 ราย เสียชีวิต 125 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในเด็กอายุ 1 ปี ร้อยละ 28.45 รองลงมา 2 อายุ ร้อยละ 21.95 และอายุ 3 ปี ร้อยละ 16.80 สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ในปี 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 216 ราย พบมากที่สุดในจังหวัดพัทลุง จำนวน 126 ราย, นราธิวาส (25 ราย), สงขลา (16 ราย), ตรัง (16 ราย), ปัตตานี (15 ราย), สตูล (13 ราย) และยะลา (5 ราย) ข้อมูลการเฝ้าระวังโรค RSV ระบบ HDC กองดิจิทัลเพื่อการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ สามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง จะพบบ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว อาการโดยทั่วไปคล้ายไข้หวัดธรรมดา มักพบในเด็กเล็ก โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อยและซึมลง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ
แพทย์หญิงวันวิสาข์ กล่าวเพิ่มเติม ถึงการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แนะนำผู้ปกครอง สังเกตอาการบุตรหลาน โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้ล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก ควรปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอจาม ให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงพาเด็กไปเล่นในสถานที่อยู่รวมกันจำนวนมาก ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของที่สัมผัสเป็นประจำ หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียน และพาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป
สำหรับสถานศึกษา 1. จัดให้มีระบบการคัดกรองนักเรียนป่วยก่อนเข้าสถานศึกษา 2. หากพบว่ามีนักเรียนป่วย อาจพิจารณาปิด/เปิดสถานศึกษาเพื่อการชะลอการระบาดของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสถานศึกษา) 3. โรงเรียนควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้าใจความจำเป็นที่จะต้องให้นักเรียนที่ป่วยหยุดเรียน 4. การจัดการภายในสถานศึกษา 4.1 สถานศึกษาจัดเตรียมจุดล้างมือ (น้ำพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์) เน้นห้องน้ำและโรงอาหาร 4.2 ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่มเป็นประจำ 4.3 จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ ณ ห้องพยาบาล 4.4 จัดกิจกรรมออกกำลังกาย เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน 4.5 ให้นักเรียนจัดเตรียมแก้วน้ำและช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง หากพบการเจ็บป่วยเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน ให้รีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข ในพื้นที่เพื่อทำการควบคุมโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422