ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายหาน
จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Han Zhiqiang) โดยมี ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมกรมวิชาการเกษตร นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (112)
สำหรับการหารือในวันนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนได้หารือถึงกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 เพื่อลงนามในความตกลงระหว่างไทยและจีนทั้ง 3 ฉบับได้แก่ 1) พิธีสารผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 2) ต้นสนใบพาย และ 3) ความตกลงในการแก้ไขพิธีสารสัตว์ปีก รวมทั้งการเดินทางไปต้อนรับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเกษตรซึ่งจะเดินทางไทยไปยังนครเฉิงตู โดยฝ่ายจีนเห็นว่าทั้งสองกิจกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร และยินดีให้การสนับสนุนโดยจะแจ้งให้รัฐบาลจีนทราบต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรที่ฝ่ายจีนเชี่ยวชาญ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ซึ่งฝ่ายไทยแสดงความสนใจด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีความต้านทานโรค เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม สำหรับการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร และฝ่ายจีนได้รายงานถึงความก้าวหน้าการขอเปิดตลาดโคมีชีวิต การผลักดันการนำเข้าสินค้า ณ ด่านท่าเรือกวนเหล่ย โดยฝ่ายจีนรับสินค้าเกษตรจากไทยอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ฝ่ายไทยมีสินค้าเกษตรมที่มีคุณภาพมาตรฐานอีกหลายชนิด ทั้งสินค้าพืช ประมง ปศุสัตว์ ที่พร้อมจะเปิดตลาดเข้าสู่จีน รวมถึงนักลงทุนของจีนได้มาลงทุนในไทยครอบคลุมในทุกสาขาและมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้เห็นพ้องที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันโดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ยางพารา
ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย ในระหว่างปี 2563 - 2565 มีสัดส่วนสินค้าเกษตรร้อยละ 20.70 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกับโลก โดยในปี 2563 มีมูลค่าสินค้าเกษตร 310,785 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 และ 2565 เป็นมูลค่า 447,403 ล้านบาท และ 498,694 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 418,916 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 26.67 ต่อปี ซึ่งฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาโดยตลอด