ในสถานการณ์วิกฤติโลกรวนที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง คนทั่วไปมักมุ่งแสวงหานวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยมิได้ตระหนักถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกวัฒนธรรม ในฐานะเครื่องมือที่สำคัญเพื่อลดผลกระทบที่นับวันจะทวีความรุนแรง ทั้ง ๆ ที่วิถีวัฒนธรรมที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัว มีความเป็นอยู่สอดคล้องกับธรรมชาติ น่าจะเป็นคำตอบให้กับความท้าทายในปัจจุบันได้
เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทของวัฒนธรรมกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะองค์กรมิใช่ภาครัฐที่ทำงานเชิงวัฒนธรรม เข้าร่วมเป็นภาคีกับ Climate Heritage Network ผลักดันแนวคิดนี้ไปสู่นโยบายในระดับสากล ร่วมกับ Petra National Trust ในการประชุม COP28 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม ศกนี้ ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในการเข้าร่วมเป็นภาคีกับองค์กรนานาชาติ สยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอชียตะวันออกเฉียงใต้รับเป็นประธานร่วม โดยทำหน้าที่ดังนี้
ในการจัดกิจกรรมคู่ขนานดังกล่าว สยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนจากบรรดาสมาชิก และ Crowdfunding เพื่อสรรหางบประมาณให้เยาวชนไทย ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมทั้งนักวิชาการไทยอีก 2 คน รวม 7 คนได้ร่วมเสนอแนวคิดการใช้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อรับมือวิกฤตโลกร้อนในหลายเวทีเสวนาครั้งนี้ด้วย
สุพิชชา (เมษ์) สุทธานนท์กุล หนึ่งในสองเยาวชนไทยที่จะเป็นตัวแทนไปร่วมเวทีเสวนาที่ COP 28 แสดงความเห็นต่อการไปเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ "การสื่อสารเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับเรื่องสำคัญอย่างภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมควรเข้าถึงทุกคน เพราะความไม่เข้าใจนำไปสู่การพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ที่ทำให้เกิดผลเสียต่อโลกแบบที่เป็นอยู่ มรดกทางวัฒนธรรมสะท้อนความรู้ความเข้าใจ ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลย์ของผู้คนในอดีต สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจรากฐานของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เมษ์เชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบสำคัญของทุกคนที่จะถอดรหัส ทำความเข้าใจมรดกของเรา เพื่อส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ต่อไปเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาโดยไม่ขัดแย้งหรือฝืนธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้โลกเกิดปัญหาจากความเสื่อมถอยที่มาจากการอนุรักษ์และพัฒนาที่ไม่ไปด้วยกัน" หัวข้อที่สุพิชชาจะร่วมเสวนา ได้แก่ 'แปลไม่ได้ไปไม่เป็น: อุปสรรคทางภาษาในการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ' รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินรายการ หัวข้อ 'สภาพอากาศและวัฒนธรรมเมือง: มุมมองจากเอเชีย'
สยามสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ สโมสรโรตารีบางรัก กรรมการและสมาชิกสยามสมาคมฯ กรรมการของสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมวลชนจาก crowdfunding จากการสนับสนุนครั้งนี้ ทำให้การเข้าร่วมใน COP28 ปีนี้ของสยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีความริเริ่มเรียกร้องสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้แก่ การผนวกวัฒนธรรมในนโยบายของปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต่อยอดจากงานสัมมนาในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวข้อ "Cultural Wisdom for Climate Action: The Southeast Asian Contribution" ที่สององค์กรร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นการเปิดบทสนทนาใหม่ๆ โดยผู้ร่วมงานครั้งนั้นประกอบด้วย เยาวชนจากทุกประเทศในอาเซียน และนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ทำการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างกว้างขวาง และพบว่ามีตัวอย่างมากมายที่ทำให้ตระหนักว่าเราไม่ควรมองข้ามภูมิปัญญาวัฒนธรรมในการจัดการกับวิกฤติโลกร้อน