ความซับซ้อนทางการแพทย์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่วินิจฉัยได้ การวิเคราะห์โรคที่ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์หลายครั้ง หลายขั้นตอน ฯลฯ ปัจจุบันเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกคลี่คลาย ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยคุณหมอ
จากกระแสการใช้ AI เพื่อเสริมประสิทธิภาพการแพทย์ที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด หรือแคริว่า ที่มีวิสัยทัศน์ 'EMPOWER PEOPLE AND HEALTHCARE INDUSTRY' ได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำความสามารถทางด้านเทคโนโลยี มาผสานกับข้อมูลและความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันสร้างปัญญาประดิษฐ์ยกระดับการดูแลสุขภาพ การรักษาเฉพาะบุคคล และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจความล้ำทางการรักษาในศิริราชที่มากขึ้น วันนี้จะพาไปอินไซด์ไอเดีย "ทีมสตาร์ทอัพ" ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาความชาญฉลาดเหล่านี้ ซึ่งต้องบอกว่าแต่ละเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นนั้นล้วนมีความน่าสนใจ และทำให้ความมั่นใจที่จะมีต่อ AI ทางการแพทย์ นั้น เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนา 5 โครงการ ดังนี้
1. SiCAR Ai Lab (ซิการ์ เอไอ แล็บ) ตัวช่วยสังเคราะห์ข้อมูล ให้ AI จำแนกข้อมูลคนไทยได้แม่นยำ และเพียงพอ
ทศพร แสงจ้า และธนภัทร พิชญรัตน์ ทีมพัฒนา เล่าว่า เดิมทีการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยจะมีหลายรูปแบบ เช่น เก็บเป็นข้อมูลรูปภาพ อย่างเช่นฟิล์มเอ็กซเรย์ ข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่อ่านค่าได้ ข้อมูลประเภทสัญญาณ หรือ Time Series อย่างเช่นการจับชีพจรหรืออ่านค่าน้ำตาลที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลการใช้ยาที่เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถ้าอยู่ในรูปแบบดั้งเดิมจะยากต่อการเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นโครงการ SiCAR Ai Lab จึงคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการนำความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมข้อมูลหรือ Data Engineering เข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลให้พร้อมต่อการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีการนำ Generative AI มาใช้ในการสร้างชุดข้อมูลเสมือนทางการแพทย์ (Synthetic Data) ซึ่งสร้างผ่านการจำลองจากข้อมูลจริง ไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ ช่วยลดปัญหาการละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่นการใช้ AI ทำภาพเอ็กซเรย์ขึ้นมาโดยไม่ใช่ภาพของผู้ป่วยจริง
สรุปง่ายๆ SiCAR Ai Lab จะเป็นเสมือนห้องทดลองสำหรับพัฒนาแพลตฟอร์มทดสอบและพัฒนาแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (Medical Artificial Intelligence) โดยนำฐานข้อมูลสุขภาพแบบนิรนามที่ศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช หรือ SiData+ มีอยู่แล้วมาช่วยในการปรับปรุงโมเดล AI ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสพัฒนา AI ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบนิเวศของ Medical AI ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย
2. โครงการร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ในการอ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ประเภทต่างๆ อาทิ ภาพ CT Scan เพื่อวัดปริมาตรอวัยวะ และเนื้องอก รวมถึง X-ray test recommendation by Ai
กฤตเมธ เธียรกานนท์ เปิดเผยว่า ทางแคริว่าได้ร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา นำ AI มาร่วมกันพัฒนา 2 โมเดล โดยโมเดลแรก X-Ray/ CT test recommendation by Ai ซึ่งมีที่มาจากในแต่ละวัน แผนกรังสีวิทยามีคนไข้เข้ารับการตรวจกับรังสีแพทย์จำนวนมาก โดยรังสีแพทย์จะต้องซักประวัติคนไข้ นำข้อมูลมากรอก และเลือกรูปแบบการเอกซเรย์ หรือ CT (Computerized Tomography) สำหรับคนไข้แต่ละราย เพื่อประกอบการวินิจฉัยและส่งตรวจ ดังนั้น แคริว่า จึงร่วมมือกับภาควิชารังสีพัฒนา Ai และ Machine learning ที่จะช่วยเติมข้อความอัตโนมัติ โดยการใช้ข้อมูล อาทิ ประวัติการรักษาของคนไข้และช่วยแนะนำการเอกซเรย์หรือ CT Scan ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ปัจจุบันระบบต้นแบบสามารถแนะนำคนไข้ว่าควรทำแสกนแบบไหนได้แม่นยำถึง 96% ซึ่งระบบนี้นอกจากจะช่วยให้แพทย์มีความสะดวกสบายในการกรอกข้อมูล ลดภาระงานทางด้านเอกสารแล้ว ยังเปรียบเสมือนผู้ช่วยของรังสีแพทย์ในการเลือกการตรวจที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำได้อีกด้วย
ส่วนอีกโมเดล คือ RAD Scan เป็น AI ที่ช่วยในการระบายสีภาพ X-ray/CT แบบแยกชิ้นส่วนให้เห็นอวัยวะที่แตกต่างกัน และแสดงผลออกมาในรูปแบบสามมิติ อีกทั้งยังช่วยคำนวณปริมาตรอวัยวะต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคได้หลายอย่าง เช่นภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ (Sarcopenia) การตรวจภาวะกระดูกพรุน ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่รังสีแพทย์ใช้ในการเตรียมภาพ (Label) และการคำนวณไปได้กว่าครึ่ง แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศ เมื่อนำมาใช้กับคนไข้ไทย การระบายสีจึงยังไม่ได้ผลที่แม่นยำมากนัก เพื่อต่อยอดโมเดลต้นแบบที่ทางแคริว่าพัฒนาขึ้น จึงได้ร่วมมือกับภาควิชารังสี ในการปรับปรุงโมเดลโมเดลดังกล่าวให้เหมาะสมกับการใช้การคนไข้ไทย โดยคาดหวังว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้รังสีแพทย์ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ลดภาระงานของแพทย์ และนำไปสู่ผลลัพท์ของการประเมิน หรือการวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น
3. Preceptor ผู้ช่วยคนสำคัญเพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษา และช่วยลดปัญหาความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์
ณัฐวัชร สัตย์อุดม กล่าวว่า โครงการ PreceptorAI เกิดมาจากคำว่า Preceptor ที่แปลว่า อาจารย์รวมกับคำว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยจะเป็นเหมือนสมองกลางที่นำเอาทุกข้อมูลมารวมกัน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษาและผู้ช่วยตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรักษา และช่วยลดปัญหาการเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ มีฟีเจอร์หลักในการใช้งาน 6 ฟีเจอร์ ประกอบด้วย ฟีเจอร์ฟรีสไตล์ที่สามารถถามคำถามทางการแพทย์ทั่วไปได้ การวินิจฉัยแยกโรค (Differential Diagnosis) โดยการป้อนอาการของผู้ป่วยเข้าไป เพื่อให้ AI ช่วยวินิจฉัยโรค ให้แนวทางการติดตามอาการ พร้อมช่วยแนะนำแนวทางการรักษา สามารถถามตอบได้ทั้งภาษาอังกฤษและไทย โดยไม่สูญเสียความหมายทางการแพทย์ เทคโนโลยีวิเคราะห์ถาม - ตอบข้อสอบแพทย์ การนำฐานข้อมูลข้อสอบแพทย์มาผนวกเข้ากับ AI เพื่อช่วยหาคำตอบและคำอธิบายข้อที่ถูกต้อง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเตรียมสอบหรือต้องการทบทวนความรู้ ซึ่ง PreceptorAI ที่พัฒนาขึ้นนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถป้อนข้อมูลเข้าระบบได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบรูปภาพ ข้อความ และแบบเสียง เช่น ถ้าเป็นรูปภาพก็สามารถนำมาทำเป็น Medical Imaging ได้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับ AI แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นคำอธิบายแบบข้อความ
นอกจากนี้ PreceptorAI ยังมีแผนที่จะปล่อยฟีเจอร์ใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ ฟังก์ชั่นไกด์ไลน์ โดยเป็นโหมดสำหรับการค้นหาแนวทางปฏิบัติทางเวชระเบียน (Medical guideline) ซึ่งจะอัพเดทข้อมูลให้ตรงกับแนวปฏิบัติของประเทศไทยให้ทันสมัยอยู่เสมอ จุดเด่นคือการใช้งานที่ง่าย ได้ข้อมูลที่เป็นข้อสรุปออกมาแล้วนอกจากนี้กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็สามารถนำ PreceptorAI มาช่วยได้ เช่น โรคเบาหวาน เพื่อช่วยเช็คประวัติคนไข้ ตรวจสอบผลแล็ป ให้คำแนะนำในการปรับยา และการดูแลสุขภาพได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทาง PreceptorAI มีแผนที่จะเชื่อมต่อกับระบบของทางโรงพยาบาล โดยคาดหวังว่า PreceptorAI จะเป็นเสมือนผู้ช่วยตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรักษา นำไปสู่ผลลัพธ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า AI แต่ละตัวที่สร้างขึ้นมา และ AI ที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ หากนำมารวมกันจะสามารถช่วยให้แพทย์เห็นข้อมูลคนไข้แบบองค์รวมเฉพาะบุคคล (Multimodal personalize care) ได้ดียิ่งขึ้น เห็นแนวโน้มในการเกิดโรคในอนาคต นำไปสู่การประเมิน หรือวินิจฉัยที่ดียิ่งขึ้น และในอนาคต แคริว่ามีแผนจะร่วมกับมหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย รักษา ตลอดจนการคัดกรองเบื้องต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ Medical AI ของไทย มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันในระดับโลก
4. โครงการธุรกิจด้านจีโนมิกส์ (Genomic Business) ล้ำสมัยด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม ส่งต่อสู่การวางแผนสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลในอนาคต
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชให้บริการเรื่องการตรวจความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งโดยการถอดรหัสพันธุกรรม (Comprehensive Hereditary Cancer Panel Risk Screening) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง ทั้งการตรวจจากเลือดเพื่อดูความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง และตรวจจากชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็ง เพื่อเลือกยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งศิริราชเป็นโรงพยาบาลแรกและโรงพยาบาลเดียวในปัจจุบันที่สามารถตรวจได้เอง โดยไม่ต้องส่งไปต่างประเทศ สามารถทราบความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้จากพันธุกรรม ซึ่งการมีข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้สามารถดูแลสุขภาพได้ตั้งแต่เบื้องต้นแบบ Preventive Care หรือ การตรวจก่อนป่วย เพื่อให้รู้ทันการเกิดโรคและป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไปจนถึงการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันได้ตรวจคนไข้ไปแล้วกว่า 7 พันคน และมีโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนที่ส่งเลือดและตัวอย่างชิ้นเนื้อมาให้ตรวจทั้งหมด 23 แห่งจากทั่วประเทศไทย
แต่เนื่องจากการตรวจดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและต้องทำในห้องแล็ปที่มีความซับซ้อนมาก ซึ่งศิริราชเองก็เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่มีศักยภาพจำกัด การที่จะขยายการบริการดังกล่าวให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างแคริว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการบริการนี้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องไปตรวจตามโรงพยาบาลที่ต้องส่งไปตรวจที่ต่างประเทศ ซึ่งรอนานและเสียค่าใช้จ่ายสูง
ทางด้าน ดร. ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read lab: Si-LoL ภายใต้หน่วยชีวสารสนเทศ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาลมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกับแคริว่า 2 ผลิตภัณฑ์ คือ NanoPGX หรือ nanopore-based pharmacogenomics และ Preemptive-101 สำหรับ NanoPGX นั้นเป็นการตรวจยีนแพ้ยาแบบความละเอียดสูง โดยนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ราคาไม่สูง ได้ผลเร็ว และที่สำคัญสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ทุกเชื้อชาติ ด้วยจุดนี้เราเชื่อว่าจะสามารถให้บริการไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากในประเทศไทย
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่สองคือ Preemptive-101 เป็นการคัดเลือกยีน 101 ยีน ที่น่าจะตรวจไว้ก่อนซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับลูกค้าได้ เช่น ตรวจยีนที่เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการแพ้ยาสลบ ซึ่งมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต และส่งต่อกันผ่านพันธุกรรมได้ ดังนั้นการตรวจก่อน หรือ Preemptive test จะช่วยประเมินความเสี่ยงดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ต้องดมยาสลบก่อนผ่าตัด หรือทำศัลยกรรม นอกจากนี้ยังมียีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ โดยจะร่วมกับแคริว่าพัฒนาระบบการประมวลผลให้ใช้งานง่าย เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล หรือคลินิก
5. โครงการความร่วมมือกับศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ (VDC): แหล่งบ่มเพาะพัฒนา Health Tech Startup ของไทย เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริง
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร กล่าวว่า วงการแพทย์ของไทยในปัจจุบัน มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายกับสตาร์ทอัพ ด้าน Medical Hub เพื่อช่วยกันพัฒนา และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์จากห้องวิจัยสู่ตลาดธุรกิจ ซึ่งพันธกิจที่สำคัญของศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ หรือ Center for Value Driven Care: VDC คือ ต้องการปลูกฝังแนวคิด พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านนวัตกรรม และเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของศิริราช กับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภายใน ภายนอก และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการบริการของโรงพยาบาลศิริราชสู่การเป็น "Smart Hospital" ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงได้มีการจัดกิจกรรม Interactive Workshop อย่างต่อเนื่อง อาทิ LEAN Design Thinking Workshop และเรียนรู้ผ่านกระบวนการของ LEGO(R) SERIOUS PLAY(R) เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกของเทคโนโลยี ดังนั้น เราควรใช้ AI มาช่วยเสริมการทำงานให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ การร่วมมือกับแคริว่า จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความคิดเชิงนวัตกรรม และช่วยผลักดันนวัตกรรมจากบุคลากรภายในศิริราชไปสู่การนำไปใช้จริง และต่อยอดสู่ธุรกิจนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งเชื่อมโยง ประสาน และสนับสนุนสตาร์ทอัพ ที่มีความสนใจในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ด้วยกระบวนการต่างๆ อาทิ การจัดกิจกรรม Design Thinking เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงปัญหาและสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ตลอดจนการให้คำแนะนำทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี หรือการปรับปรุงโมเดลผ่านแพลตฟอร์ม SiCAR Ai Lab เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับแต่ละทีม ในการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถเพื่อต่อยอดธุรกิจในระยะยาว"
แม้รูปแบบการดำเนินงานของแคริว่า จะมุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนา AI เพื่อภาคธุรกิจ แต่แคริว่า พร้อมเปิดกว้างร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยี AI ไปช่วยแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน และพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น ความร่วมมือกับศิริราชเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับวงการแพทย์ไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และช่วยรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและมีคุณค่าอย่างไม่อาจประเมินได้
สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://arv.co.th/ เพจเฟซบุ๊ก AI and Robotics Ventures (https://www.facebook.com/arv.th) หรือโทร. 02 078 4000 รวมถึงติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CARIVA ได้ที่เว็บไซต์ https://www.cariva.co.th