แอสตร้าเซนเนก้า เดินหน้าส่งเสริมนวัตกรรมที่ใช้ในการตรวจหามะเร็งปอดเบื้องต้น (Pre-screening) อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดร่วมมือกับโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ติดตั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงพยาบาลระดับจังหวัดและชุมชน มุ่งหวังการขยายการเข้าถึงบริการและการรักษาทางการแพทย์ เพื่อลดความแออัดและเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในวงกว้าง พร้อมจัดการประชุมวิชาการให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อการตรวจหามะเร็งปอดและแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยข้อมูลของ Global Cancer ต่อสถานการณ์มะเร็งในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน มีการตรวจพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 190,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งแต่ละปีสูงถึง 120,000 คน ซึ่งมะเร็งที่พบมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี 14.4% มะเร็งปอด 12.4% และมะเร็งเต้านม 11.6% โดยมีมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีหลากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคืออายุที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมะเร็งส่วนใหญ่จะตรวจพบในคนอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่อัตราเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง 30 ปี นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยด้านพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การกินอาหารประเภทปิ้งย่าง สภาวะแวดล้อม ฝุ่นละอองพิษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มะเร็ง รู้เร็ว รักษาได้ การตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมักตรวจพบในระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย และมักจะอยู่ในสภาวะที่โรคลุกลาม ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร มีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคน้อยและมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากผู้ป่วยตรวจพบโรคดังกล่าวตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะทำให้สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที นำมาซึ่งผลการรักษาที่ดีและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตที่มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อในปอดซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่อาจมีขนาดเล็กหรือมองเห็นได้ยากภายในระยะเวลาเพียง 3 นาที ร่วมไปกับการตรวจสอบยืนยันผลจากรังสีแพทย์ เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตรวจหามะเร็งปอดเบื้องต้น และโรคอื่นๆ ในปอดให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าและโรงพยาบาลโป่งน้ำร้อนแล้วกว่าพันราย ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยก้อนเนื้อในปอด มากกว่า 50% และพบรอยโรคที่สงสัยก้อนเนื้อในปอดที่มีโอกาสความน่าจะเป็นในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูงถึง 0.8%
นายแพทย์อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ประธานในพิธี กล่าวว่าการแปลผลเอกซเรย์ปอด ถ้าดีที่สุดก็ต้องให้ รังสีแพทย์แปลผล แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาลรัฐบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน เอกซเรย์ปอดได้รับการอ่านโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ดังนั้นการที่มี AI ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีความสามารถเทียบกับรังสีแพทย์ มาเป็นผู้ช่วยในการแปลผลจะทำให้เกิดการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมาก
นายแพทย์ ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ดูแลศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงด้านมะเร็ง และประธาน cancer warrior จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายหลายประการ เช่น ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และยาเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แต่การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากที่สุด จึงได้ผลักดันโครงการนำร่องเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ทำงานได้ทัดเทียมกับรังสีแพทย์มาสู่ระบบเอกซเรย์ของโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้เร็วและมีโอกาสค้นพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาเป็นทีม ซึ่งประกอบด้วย รังสีแพทย์ (รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา รังสีร่วมรักษา) พยาธิแพทย์ ศัลยแพทย์ทรวงอก และอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา) ที่ทันท่วงทีและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยต่อไป"
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ได้เห็นชอบเดินหน้า "มะเร็งครบวงจร" เพื่อการดูแลประชาชนไทยในทุกขั้นตอนตั้งแต่การส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และการดูแลฟื้นฟูกายใจจากโรคมะเร็ง พร้อมจัดตั้งทีม Cancer Warrior เพื่อต่อสู้มะเร็ง 5 ชนิด คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก แต่ยังไม่ได้มีเรื่องมะเร็งปอด ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และแผนการดำเนินงานของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปี กับเป้าหมายในการยกระดับประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น การร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการป้องกันโรค และถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เป็นมากกว่าการรักษา ซึ่งเราจะยังคงเดินหน้าขยายขอบเขตความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ด้วยความเชื่อมั่นว่าอนาคตที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง (Making Health Happen)