MTW เผยโค้งสุดท้ายปี 66 สดใส มอเตอร์ไซค์ EV หนุนปีนี้นิวไฮ ปี 67 บุกธุรกิจใหม่ผลิตแบตเตอรี่ เข้ามาสู่หัวใจของธุรกิจพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 28, 2023 17:15 —ThaiPR.net

MTW เผยโค้งสุดท้ายปี 66 สดใส มอเตอร์ไซค์ EV หนุนปีนี้นิวไฮ ปี 67 บุกธุรกิจใหม่ผลิตแบตเตอรี่ เข้ามาสู่หัวใจของธุรกิจพลังงานทดแทน

"บมจ.เมคทูวิน โฮลดิ้ง หรือ MTW" เผยโค้งสุดท้ายของปีสดใส ผลักดันผลงานปี 66 นิวไฮ ตามเป้า ชูธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ EV หนุน โรงงานใหม่ดันกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่กันยายนเป็นต้นมา ขณะที่นโยบายส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเอื้อกลุ่มบริษัทได้ประโยชน์ทั้งในแง่ยอดขาย และต้นทุนภาษี ล่าสุด ตุนออเดอร์ที่รอส่งมอบอยู่ราว 4,000 คัน และคาดปริมาณการขายในปี 2567 จะอยู่ที่ 30,000 คันต่อปี พร้อมกาง 3 กลยุทธ์ปี 67 เปิดศูนย์บริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด - ซื้อชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อขอสิทธิลดอัตราอากร Local content - และเปิดฉากธุรกิจผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ เข้ามาสู่หัวใจของธุรกิจพลังงานทดแทน ดันประเทศไทยสู่ EV Hub

นายกฤตเมธ ตั้งพิชญโพธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมคทูวิน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTW เปิดเผยว่า ในปี 2566 เป็นปีที่ MTW จะสร้างฐานการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ภาพชัดเจนมากขึ้น ซึ่งบริหารงานภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (DECO) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมนโยบายส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ โดยปัจจุบัน มีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ขึ้นทะเบียน 20 รุ่น และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐจำนวน 9 รุ่น ปัจจุบัน มีตัวแทนจำหน่าย 102 ราย มี 200 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นทั้งศูนย์จำหน่าย และศูนย์บริการหลังการขาย

ขณะที่ รายงานยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศ ในปี 2566 ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 1.6 ล้านคัน ถ้าเทียบรถจักรยานยนต์ EV รวมทุกแบรนด์ที่จดทะเบียนในกรมขนส่ง คิดเป็นเพียง 1% สะท้อนการเติบโตและการขยายตลาดนี้

อย่างไรก็ดี จากการผลักดันประเทศไทยกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลาง EV Hub ระดับภูมิภาคและเข้าสู่ Carbon Neutrality การใช้รถไฟฟ้าจึงเป็นหนึ่งในตัวช่วย และกำลังเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยนโยบาย EV แห่งชาติของประเทศไทยส่งเสริมการพัฒนารถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2021 - 2035 ครอบคลุมทั้งระบบ รวมถึงส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มบริษัทได้รับ คือ เงินอุดหนุนจำนวน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ไปจนถึงสิ้นปี 2568 และขยายระยะเวลาให้กับผู้ที่จดทะเบียนรถไม่ทันในช่วงสิ้นปี 2568 ไปจนถึงสิ้นวันที่ 31 มกราคม 2569 โดยกลุ่มบริษัทได้รับการสนับสนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 9 รุ่น

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ BOI ระยะเวลา 3 ปี และเพิ่มสูงสุดที่ 5 ปี หากมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมทั้ง ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วน ซึ่งกลุ่มบริษัทได้ 5 ชิ้นส่วน จากทั้งหมด 9 ชิ้นส่วน ได้แก่ แบตเตอรี่ มอเตอร์ คอนโทรลเลอร์ ระบบบริหารแบตเตอรี่ และคอนเวอร์เตอร์ สอดคล้องกับแผนการลงทุนของ MTW สยายปีกเข้าไปในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ คาดจะแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม และจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จ ภายในไตรมาส 1/2567

สำหรับปี 2567 แผนขยายธุรกิจ วาง 3 กลยุทธ์หลัก คือ (1) การมีศูนย์บริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เป้าหมาย 300 สาขา โดยเป็นทั้งศูนย์บริการ และศูนย์จำหน่าย รวมทั้ง (2) ซื้อชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อขอ Local content และ (3) ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ ที่ใช้กับ Electric Vehicle (EV) ทุกชนิด แบตเตอรี่ประเภท Storage ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจพลังงานทดแทน ใช้สำหรับรถยานยนต์ไฟฟ้า และรองรับการขยายตลาดในอนาคต

โดยกลุ่มบริษัทมีแผนการผลิตและการขายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดปี 2567 มีกำลังการผลิต 32,000 คันต่อปี เพิ่มเป็น 52,000 คันต่อปี ในปี 2570 และประมาณการปริมาณการขายในปี 2567 อยู่ที่ 30,000 คันต่อปี เพิ่มเป็น 50,000 คันต่อปี ในปี 2570 ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีออเดอร์ในมือที่รอส่งมอบราว 4,000 คัน

"ในปี 2565 เราได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลในเรื่องของ EV 3.0 แต่ข้อจำกัดด้วยโรงงานเดิมที่มีพื้นที่จำกัด และปีที่แล้วทั้งปีเป็นช่วงทดสอบโมเดลรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 9 รุ่นที่เข้าโครงการ โดยทดสอบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และได้รับการอนุมัติ ได้เงินอุดหนุนจำนวน 18,000 บาทต่อคัน ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 อย่างไรก็ดี ในปี 2566 เดือนมกราคาคม - สิงหาคมเรายังคงผลิตที่โรงงานเก่า มีกำลังการผลิตเพียงราว 10,000 คัน/ปี ช่วงสิงหาคมเราย้ายไปที่โรงงานใหม่ ประมาณกว่า 23ไร่ ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น มีพื้นที่เพียงพอในการผลิต เครื่องจักรที่นำเข้ามามีความทันสมัย สามารถรองรับกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 200,000 คัน/ปี อย่างไรก็ดี หลังย้ายเข้าไปโรงงานใหม่ เราอยู่ในช่วงอบรมบุคลากร และย้ายสินค้า มาจนถึงวันนี้เราทำไปเรียบร้อย 95% แล้ว และจะเรียบร้อยทั้ง 100% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ใน Q3/66 - Q4/66 มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในปีหน้า

และในช่วง Q4/66 ในช่วงตุลาคม พฤศจิกายน เราติดขัดในด้านการส่งสินค้าไปให้ตัวแทนจำหน่าย เพราะว่า กลุ่มบริษัทได้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมจากรัฐบาล เราได้การยกเว้นภาษีชิ้นส่วน 5 ชนิด เงื่อนไขการได้รับส่งเสริมคือ เราต้องส่งชิ้นส่วนที่เราได้ส่งเสริมไปรับรองที่สถาบันยานยนต์ ซึ่งต้องมีขั้นตอนเกิดขึ้น ดังนั้น ใน 5 ชนิดที่บริษัทได้ประโยชน์ มูลค่าค่อนข้างสูง คิดเป็น 70% ของต้นทุนทั้งหมด เราเลยพยายามทำตามเงื่อนไข เพื่อประโยชน์ต่อบริษัท และผู้ถือหุ้นของเรา เราเป็นเจ้าแรกที่ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และเป็นเจ้าแรกที่ได้รับการส่งเสริมมาตรการ EV 3.0 ทำให้เราได้ประโยชน์ก่อนใคร แต่เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ การรับรองต้องใช้เวลา คาดการดำเนินการเรื่องยกเว้นภาษีชิ้นส่วน 5 ชนิด จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้เราชะลอการส่งมอบสินค้าเพื่อรอการรับรองส่วนนี้ และใช้ประโยชน์ได้จนถึงปี 2568 เป็นเหตุผลให้ในไตรมาส 4/2566 เรายังใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มเข้ามาอย่างไม่เต็มที่ แต่คาดยอดขายยังอยู่ในระดับที่ดีใกล้เคียงไตรมาส 3/2566" นายกฤตเมธ กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570) โดยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย ทางกลุ่มบริษัทมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ล่าสุด ทางผู้บริหารได้เข้าไปประชุมกับกรมสรรพสามิตในเรื่องดังกล่าว ซึ่งยังคงเป็นทิศทางที่ดีต่อบริษัท จากการกระตุ้นการลงทุนผลิตรถไฟฟ้า 100% ในประเทศ ซึ่งต้องติดตามและศึกษาเงื่อนไขนโยบายที่จะกำหนดออกมา จากปัจจุบันเรายังได้อานิสงส์จาก EV 3.0 ในปี 2567 - 2568 แต่มองไม่น่ากังวล เพราะภาครัฐพยายามผลักดันให้ไทยเป็น EV Hub แห่งภูมิภาค มีการตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

ล่าสุด MTW มีรายได้จากการขายของกลุ่มบริษัท สำหรับงวด 9 เดือนปี 2566 อยู่ที่ 394.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 242.45 ล้านบาท หรือ 159% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้น 109.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.11 ล้านบาท หรือ 180% มีกำไรสำหรับงวด 52.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.01 ล้านบาท หรือ 460.99% รับธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ EV หนุน ตัวเต็งได้อานิสงส์นโยบายส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ หนุนปีนี้นิวไฮตามเป้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ