เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว ต้นแบบเอสเอ็มอีสัมมาชีพ ธุรกิจโตคู่เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 1, 2023 15:04 —ThaiPR.net

เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว ต้นแบบเอสเอ็มอีสัมมาชีพ ธุรกิจโตคู่เกษตรกร

ไอเดียสุดล้ำกับการผลิต "เฟรนช์ฟรายส์จากถั่วเขียว" ของบริษัทสไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด อีกทั้งธุรกิจยังมีส่วนสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียว การดูแลชุมชน คุณสมบัติเหล่านี้มีส่วนทำให้สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส คว้ารางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2566 ไป

"ผมเรียนจบมาทางด้านแปรรูปการเกษตร จึงอยากนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า และเห็นว่าถั่วเขียวยังมีการแปรรูปกันน้อย แต่ปลูกง่ายในไทย ประเทศเรามีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 3 ล้านไร่ และคิดว่า เฟรนช์ฟรายส์ไม่จำเป็นต้องทำจากมันฝรั่งเสมอไป จึงลองทำเฟรนช์ฟรายส์จากถั่วเขียวดู"

ทรรศิน อินทานนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เล่าถึงที่มาของจุดเริ่มต้นผลิตเฟรนช์ฟรายส์ด้วยถั่วเขียว

ไม่ได้มีแค่ไอเดีย แต่เขาลงทุน ทุ่มเทจริงจัง วิจัยและพัฒนาเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว ตั้งแต่เลือกใช้ถั่วเขียวหลายสายพันธุ์ เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสและรสชาติที่ต้องการ โดยถั่วเขียวจะถูกเลาะเปลือกเผยให้เห็นเนื้อสีทองด้านใน และเมื่อผ่านกระบวนการผลิตจะได้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับเฟรนช์ฟรายส์ที่ทำจากมันฝรั่ง

ประการสำคัญ เฟรนช์ฟรายส์จากถั่วเขียวจะให้คุณค่าสารอาหารที่มีโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ ไม่ผสมแป้ง ไม่มีกลูเตน ไม่มีสารอะคลิลาไมล์ที่ทำให้เกิดมะเร็ง จึงนับเป็นเฟรนช์ฟรายส์ทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ รวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบเฟรนช์ฟรายส์ทั้งหลาย 

"ตอนนี้ เราเป็นผู้ผลิตเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียวเจ้าแรกและเจ้าเดียวของไทย ที่ทำจากถั่วเขียวร้อยเปอร์เซ็นต์ และจุดแข็งของธุรกิจเรา อยู่ที่การใช้วัตถุดิบจากในประเทศ ทำให้สามารถแข่งขันในเรื่องวัตถุดิบได้ด้วย" ทรรศินฉายภาพ

ไม่เพียงแค่การเติบโตทางธุรกิจ บริษัทยังมองถึงการ สร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่น เน้นการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ที่เติบโตคู่ชุมชน เกษตรกร โดยแท้

"เรื่องการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ เรามองไปที่ 3 แกนหลัก แกนแรก คือ เกษตรกรที่เราเข้าไปร่วมพัฒนาศักยภาพ ประกันราคาสินค้าในลักษณะ Contract Farming

แกนที่สอง คือ ชุมชน เราเป็นโรงงานอยู่ที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  เราจ้างงานคนในพื้นที่ทั้งหมด และให้สวัสดิการแรงงานตามที่ควรได้รับ

ส่วนแกนที่สามคือ ลูกค้า เราจะผลิตสินค้าที่ดูแลสุขภาพ ให้เขาบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ และเป็นสิ่งที่ชอบ ถือเป็น 3 แกนหลักที่จะนำความยั่งยืนสู่องค์กร"  

ในด้านการดูแลสังคม บริษัทยังเข้าไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ทุกปีจะนำเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียวไปมอบให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างจังหวัด

"ต้องยอมรับว่า น้องๆ ในต่างจังหวัด โรงเรียนห่างไกล อาจไม่มีเงินพอที่จะซื้อเฟรนช์ฟรายส์มากิน ทั้งๆ ที่เป็นอาหารที่เด็กทั่วโลกชอบ เราก็ไปส่งมอบสิ่งนี้ การที่น้องๆ ได้กินอาหารที่เขาอยากกิน และอร่อย คือสิ่งที่เราเข้าไปเติมเต็ม" 

ผู้ก่อตั้งบริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ยังกล่าวถึงการพัฒนาการตลาดเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียวว่า นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ยังมองไปถึงศักยภาพตลาดส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้ส่งออกไปใน 2 ประเทศ คือ สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมนี และมีแผนจะส่งออกไปยังญี่ปุ่น โดยมีวิสัยทัศน์พัฒนาสินค้าสู่ แบรนด์สินค้าไทยสู่ระดับภูมิภาค (Reginonal Brand)

"ในปี 2567 เราพยายามจะทำให้แบรนด์เราเป็น Regional Brand ให้ได้  ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดในอาเซียน หรือเอเชีย และผลักดันไปให้ถึง Global Brand  ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักสินค้า Made in Thailand" ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงกล่าวอย่างมุ่งมั่น

"รายได้ที่เราได้รับจากการขายสินค้า จะกลับไปเป็นรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นรายได้ของแรงงานในพื้นที่ ขณะที่ลูกค้าก็จะได้ประโยชน์จากการบริโภคสินค้าสุขภาพ เราพยายามที่จะทำให้เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียวของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง"

นี่คือการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ของบริษัท บริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่มองการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ว่าต้องเติบโตควบคู่ไปกับการผสานประโยชน์ร่วมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 3 แกนหลัก ได้แก่ เกษตรกร ภาคแรงงาน และลูกค้า

เมื่อผนวกรวมกับความสามารถทางธุรกิจ การวิจัย คิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การประกอบการแอย่างมีสัมมาชีพ (อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้) จึงเป็นอีกเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัล "เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ" ปี 2566 ที่มอบโดยมูลนิธิสัมมาชีพไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ