ทีมนักวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ม.วลัยลักษณ์ ค้นพบวิธีปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน แก้ปัญหาเชื้อรา ปลวกและแมลง ได้ไม้ยางพาราที่มีความคงทน ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม พร้อมได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ไม้ยางพาราเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีความคงทนต่อธรรมชาติต่ำและถูกทำลายได้ง่ายจากเชื้อรา ปลวก และแมลง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงความคงทนก่อนนำไปใช้งาน โดยทั่วไปจะใช้วิธีการอัดสารเคมีเข้าในเนื้อไม้ยางพาราเพื่อรักษาเนื้อไม้จากการเสื่อมสภาพ เช่น การอัดสารประกอบโบรอนสำหรับใช้งานภายในอาคาร หรือการอัดสาร CCA (Chromated Copper Arsenate) สำหรับการใช้งานภายนอกอาคาร ซึ่งการใช้สารเคมีรักษาเนื้อไม้ดังกล่าวเป็นการลดคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมของไม้ยางพารา ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย
คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยหลักคือ นายทวีศิลป์ วงศ์พรต นักวิทยาศาสตร์สังกัดศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้ฯ มวล. จึงได้พัฒนากรรมวิธีการผลิตเพื่อให้ได้ไม้ยางพาราที่มีความคงทนโดยปราศจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นวัสดุไม้ในอนาคต โดยเฉพาะการใช้งานไม้สำหรับการก่อสร้าง ทั้งภายนอกและภายในอาคาร การใช้งานไม้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ของเล่นเด็ก เครื่องครัวไม้ที่สัมผัสอาหาร เป็นต้น ด้วยเทคนิคการต้มไม้ยางพาราในน้ำร้อนภายใต้ความดันในถังทนแรงดันสูง เป็นการปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราด้วยกรรมวิธีการให้ความร้อนแบบใหม่ โดยการต้มไม้ยางพาราที่อิ่มตัวหรือเกือบอิ่มตัวด้วยน้ำในน้ำภายใต้ความดัน ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนี้จะไม่ทำให้ไม้ยางพาราแตก จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมการให้ความร้อน อีกทั้งทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างของเนื้อไม้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่อุณหภูมิต่ำลงและในระยะเวลาที่สั้นลง เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิคอื่น ๆ ของต่างประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการเผาไหม้ของไม้ระหว่างกระบวนการให้ความร้อนอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร กล่าวอีกว่า เทคนิคกรรมวิธีการให้ความร้อนแบบใหม่นี้สามารถนำไปใช้ได้ในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในประเทศไทย โดยการดัดแปลงใช้อุปกรณ์ถังอัดน้ำยาที่มีอยู่แล้วในโรงงาน และสามารถเข้าทดแทนขั้นตอนการอัดน้ำยาของโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ช่วยลดการใช้พลังงาน ปราศจากสารเคมีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประดิษฐ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทุนงบประมาณแผ่นดินปี 2550 ภายใต้โครงการ "การพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพไม้ยางพาราโดยไม่ใช้สารเคมีด้วยวิธีความร้อนที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับเตาอบที่มีในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพารา"
ทั้งนี้ผลงานวิจัย"การปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน" ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นสิทธิบัตรฉบับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีกด้วย