องค์การสหประชาชติและวงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติให้วันที่ "5 ธันวาคม" ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็น "วันดินโลก" (World Soil Day) ในพระอัจฉริยภาพและพระวิริยะอุตสาหะการค้นคว้าและบริหารจัดการดินของพระองค์
การเฉลิมฉลองงานวันดินโลกของประเทศไทยในปี 2566 จัดขึ้นในธีม Soil and Water ; a source of life "ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต" ระหว่างวันที่ 5-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศ มุ่งวิจัยพัฒนาและบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน และผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันฮุย (Anhui Science and Technology University) ประเทศจีน หน่วยงาน Nanjing Institute of Functional Agriculture Science and Technology (iFAST) และสมาคม International Society for Selenium Research ได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด "ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต" เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันดินโลก โดยการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 7th International Conference on Selenium in the Environment and Human Health (7th ICSEHH) ภายใต้ธีม "Selenium for Healthy World" ระหว่างวันที่ 25-28 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ
โดย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน จากประเทศไทย จีน เกาหลี บราซิล เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและอิทธิพลของแร่ธาตุซีลีเนียมในระบบชีวภาพ แนวทางการวิจัยที่หลากหลาย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุด แลกเปลี่ยนแนวคิดการวิจัย และสร้างเครือข่ายเพื่อเริ่มโครงการวิจัยร่วมกันในอนาคต
ทั้งนี้ วว. โดย ศนก. ได้วิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาการแตกกระจายของซีลีเนียมในดิน และผลิตพืชเสริมซีลีเนียมด้วยเทคโนโลยี Agronomic Biofortification ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 กล้วยหอมทอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนำส่วนเหลือทิ้ง เช่น ฟางข้าว ต้น ใบ เปลือกข้าวโพด ไปทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดย วว. นำองค์ความรู้และผลงานการวิจัยไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดการค้า เพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย ตอบรับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ดังนี้
ข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ข้อ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม
ข้อ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ข้อ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ วว. ยังมีการดำเนินงานโครงการ SOILGUARD เพื่อวาดอนาคตการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของดิน และสุขภาวะทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ในภูมิภาคทางชีวภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป การจัดการที่ไม่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของที่ดิน และคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของดิน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการสร้างแนวปฏิบัติ เพื่อจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของดิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) เพื่อเผชิญกับปัจจัยความเสื่อมโทรมของที่ดินและความกดดันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประสิทธิภาพของการนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดการช่องว่างความรู้ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและบริการของระบบนิเวศที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิน (Soil-mediated ecosystem services) และการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพของดินถือเป็นความท้าทายหลักที่ต้องเอาชนะ
อนึ่ง โครงการ SOILGUARD จะร่วมสร้างกรอบแนวคิดและการวิเคราะห์ที่มีศักยภาพในการเป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับการประเมินสถานะความหลากหลายทางชีวภาพของดิน การมีส่วนร่วมในการปกป้องพหุหน้าที่ของดิน (Soil Multifunctionality) และยกระดับสุขภาวะของมนุษย์ กรอบแนวคิดนี้จะได้รับการตรวจสอบโดยการออกแบบการทดลองเชิงนวัตกรรม ร่วมกับการศึกษาสถานที่ชีวนิเวศและระดับความเสื่อมโทรมของที่ดินในระดับภูมิภาค ด้วยการจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแหล่งกำเนิด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างหลักฐานเพื่อเติมเต็มช่องว่างของความรู้ และวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของการจัดการดินที่ไม่ยั่งยืน โดยความรู้ทั้งหมดจะแบ่งปันผ่านแอพพลิเคชัน SOILGUARDIANS ซึ่งเป็นเครื่องมือคาดการณ์ตามความเชื่อมโยงเชิงสาเหตุระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพของดิน พหุหน้าที่ของดิน และสุขภาวะ เพื่อสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเปลี่ยนผ่านสู่การจัดการที่ยั่งยืน
เครือข่ายความรู้โครงการ SOILGUARD และการเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชัน SOILGUARDIANS จะสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมสำหรับผู้ใช้งานในการแสดง เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ โดยโครงการ SOILGUARD จะร่วมจัดทำคำแนะนำการอนุรักษ์ตามหลักฐานสำหรับนโยบายและกรอบการทำงานในระดับสหภาพยุโรปและระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนพันธสัญญาของประเทศสมาชิกภายใต้ Global Soil Partnership ที่โครงการ SOILGUARD ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจาก GSP, GSBI, SOIL-BON, ITPS, FAO และ IPBES