การเคหะแห่งชาติลงนามบันทึกความร่วมมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังบูรณาการพัฒนาบุคลากรด้านที่อยู่อาศัยและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสัญญา หวะสุวรรณ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับรองศาสตราจารย์ ดร.สุธี ชุติไพจิตร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และลงนามความร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีและประธานหลักสูตรนวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดีถึงความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสันทนาการ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับหลักสูตร มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตการพัฒนาบุคลากรด้านที่อยู่อาศัยและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชา นวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability: IES) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากการเคหะแห่งชาติเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ในเรื่องที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่จะพัฒนาบุคลากรของการเคหะแห่งชาติ ให้มีองค์ความรู้ที่ได้มาตรฐานด้านที่อยู่อาศัยในระดับนานาชาติ เพราะทั้ง 2 มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาระดับแนวหน้าที่ได้รับการยอมรับว่ามีองค์ความรู้ มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเครื่องมือในการทำงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการเคหะแห่งชาติที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เรืออากาศโท ชัยรัตน์ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน การแลกเปลี่ยนทุนการศึกษา องค์ความรู้ และร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ตลอดจนถ่ายทอดข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เช่น ด้านวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ด้านเทคโนโลยี สถาปัตยกรรม การพัฒนาชุมชนและเมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีองค์ความรู้ไปในทิศทางที่ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งบุคคลากรของการเคหะแห่งชาติ จะได้วุฒิในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจขององค์กร
สำหรับความร่วมมือทางวิชาการ หลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น จะร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและความยั่งยืนในด้านบุคลากร เช่น การเข้าศึกษาในโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงร่วมกันพัฒนากิจกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน เช่น การวิจัย การฝึกอบรม การสัมมนา การให้คำปรึกษา การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพและความรู้ของบุคลากรของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับบุคลากรของการเคหะแห่งชาติเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน ปีการศึกษาละอย่างน้อย 2 คน