นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงมาตรการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศว่า สจส.ได้ประสานกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณากำหนดมาตรการให้รถโดยสารประจำทางปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากชนิดสันดาปภายในให้เป็นขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) อำนวยความสะดวกการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนหลัก (รถไฟฟ้า) ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย อาทิ การจัดให้มีการเดินรถ BMA Feeder (บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย) ด้วยรถบัส EV เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน กทม.ให้บริการ 2 สาย ได้แก่ เส้นทาง B2 (กทม.2 - BTS สถานีสนามเป้า) และเส้นทาง B3 (เคหะร่มเกล้า - ARL สถานีลาดกระบัง) ตลอดวันทำงาน ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ สจส.ได้จัดรถ BMA Feeder วิ่งให้บริการจากสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีบางขุนนนท์ไปเที่ยวตลาดน้ำ 4 แห่ง ในเขตตลิ่งชัน และการจัดเดินรถ BMA Feeder (บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย) ในช่วงเช้าและเย็น ช่วยรับส่งนักเรียนนักศึกษาเดินทางข้ามสะพานกรุงธน (ซังฮี้) เพื่อช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
นอกจากนั้น ยังจัดให้มีการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อไปยัง สถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพง และขยายการเดินเรือในคลองแสนแสบจากเขตมีนบุรีไปถึงวัดศรีบุญเรือง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางไปรามคำแหง ประตูน้ำ หรือสะพานผ่านฟ้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการการขนส่งและการจราจร ด้วยการใช้สัญญาณไฟจราจรแบบ Adaptive Signaling การใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบ AI ตรวจจับความผิดปกติบนท้องถนน (Anomaly Detection) เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และมีข้อมูลประกอบการวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศ Ecosystem สำหรับรถพลังงานไฟฟ้า โดยออกประกาศเกณฑ์การอนุญาตให้ติดตั้งและบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ พัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดินและทางจักรยานให้สะดวกและปลอดภัยเพิ่มอีก 550 กิโลเมตร และติดตั้งจุดจอดจักรยานบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 750 ชุด พร้อมทั้งจัดให้มีจักรยาน Bike Sharing ให้บริการเช่าปั่นเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ โดยเริ่มนำร่องให้บริการจักรยานก่อน 2,000 คันในปี 2566