เมื่ออากาศเริ่มเย็นลง พอฉันตื่นขึ้นมาก็พบว่าคอตัวเองขยับไม่ได้ มีอาการคอไหล่ตึงและปวดมากเวลาเคลื่อนไหวสงสัยจะคอตกหมอนแล้วแหละ...
คอตกหมอน หรืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อคอเฉียบพลัน คือ อาการปวดตึงกล้ามเนื้อคอที่เกิดขึ้นหลังตื่นจากนอนหลับ
สาเหตุการเกิดคอตกหมอน
ในยุคปัจจุบันรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในสังคมเต็มไปด้วยความเครียดและแรงกดดัน นอกจากนี้ในการทำงานยังจำเป็นต้องอยู่ท่าเดิมนาน ๆ นอนดึกตื่นเช้า ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายได้รับความเหนื่อยล้าอย่างมาก เนื่องจากความกดดันและความตึงเครียดทางจิตใจ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อไหล่และคออยู่ในภาวะหดตัวผิดปกติจากการเหยียดตึงมากเกินไปเป็นเวลานาน ๆ หากใช้หมอนที่ไม่เหมาะสม เช่น หมอนที่ไม่รองรับส่วนเว้าของกระดูกส่วนคอ หรือหมอนที่แข็งเกินไป จะทำให้ขณะนอนหลับเส้นประสาทกระดูกสันหลังส่วนคอจะถูกกดทับ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดคอตกหมอนหรือกล้ามเนื้อคอตึงเกร็ง อาการที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับผู้ป่วยคอตกหมอนส่วนใหญ่คือ ปวดคอหลังตื่นนอน อาจเคลื่อนไหวคอได้ลำบากหรือปวดคอรุนแรงเมื่อขยับในบางทิศทาง ในกรณีที่รุนแรง แม้กระทั่งการดื่มน้ำ พูด หรือยกแขน อาจทำให้ปวดคอขึ้นมาได้เช่นกัน
คอตกหมอนบ่อย ๆ อาจเกี่ยวกับหมอนที่ใช้อยู่ก็ได้ ?
อากาศเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นสลับไปมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคอตกหมอนเฉียบพลันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาการคอตกหมอนนั้นเฉียบพลันจริงหรือ? ที่จริงแล้ว คอตกหมอนมักเกิดจากอาการกล้ามเนื้อตึงเกร็งเรื้อรังกดทับหรืออุดกั้นทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดไม่ดี และในเวลากลางคืนที่อุณหภูมิลดต่ำลง ในขณะหลับคนเราจะปรับท่านอนของตนเองโดยไม่รู้ตัว หากคอ และไหล่ กระทบกับความเย็นมากเกินไป และหากวางศีรษะบนหมอนไม่เหมาะสม หลอดเลือดก็จะเกิดการหดตัว และทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อและดึงกล้ามเนื้อโดยรอบ ทำให้เกิดอาการบวมและปวดเรียกว่าคอตกหมอน
คอตกหมอนป้องกันอย่างไร ?
กระดูกสันหลังส่วนคอของมนุษย์มีความโค้งทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติ หากหมอนสูงต่ำเกินไป แข็งเกินไป หรือที่นอนแข็งเกินไป คอจะอยู่ในภาวะแหงนหรือเหมือนก้มมากเกินไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึงเกร็งด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้เกิดอาการปวดไม่สบาย วิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการคอตกหมอน ก่อนอื่นให้ตรวจสอบก่อนว่าหมอนและที่นอนของคุณมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสรีระหรือไม่ และความสูงของหมอนควรอยู่ที่ประมาณหนึ่งกำปั้น เมื่อนอนหงาย ควรวางส่วนล่างของหมอนไว้ที่ขอบด้านบนของสะบัก เพื่อป้องกันไม่ให้ศรีษะตกจากหมอนและป้องกันการก้มคอมากเกินไป
การวิเคราะห์โรคโดยแพทย์จีนจากกรณีศึกษา
นาย เฉิน XX อายุ 38 ปี อาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์: ตื่นเช้ามามีอาการคอตึง ปวด เคลื่อนไหวลำบากมา 3 วัน ผู้ป่วยแจ้งว่า "มีอาการคอตกหมอน" และยังแจ้งว่า แม้จะกินยาแก้ปวด นวด และติดพลาสเตอร์ลดปวดแล้วก็ยังไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ในระหว่างการตรวจพบว่ากล้ามเนื้อคอ ไหล่ และหลังตึงผิดปกติ X-RAY แสดงให้เห็นว่าความโค้งทางสรีรวิทยาของกระดูกสันหลังส่วนคอลดลงปานกลาง ไม่พบอาการอาการร้ายแรงอื่น ๆ ผู้ป่วยยังบอกด้วยว่านอกจากต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้วยังมักยกของหนัก ๆ อีกด้วย เวลาเจ็บไหล่และคอจะชอบบิดตัวและหมุนคอแต่จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
วิธีรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน >> เริ่มต้นด้วย "การนวดทุยหนา" เบา ๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มแรงการนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนลึก ตามด้วย "การฝังเข็ม" เพื่อไล่ลมเย็นที่อุดกั้นเส้นลมปราณ คลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต หลังการรักษาครั้งแรกอาการปวดบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากการนัดตรวจติดตามผลในอีก 2 วันต่อมา ผู้ป่วยแจ้งว่าอาการปวดไม่มีแล้ว และสามารถเคลื่อนไหว ขยับคอได้อย่างปกติ
วิธีดูแลตนเองเบื้องต้น
- เพื่อป้องกันการเกิดคอตกหมอนซ้ำ หลังเกิดอาการคอตกหมอนภายใน 24 ชั่วโมง ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและปวด ประคบครั้งละประมาณ 10-15 นาที หลังจากผ่านไปอีก 24 ชั่วโมง อาการบวมจะลดลง จากนั้นใช้ผ้าร้อนหรือขวดน้ำร้อนห่อด้วยผ้าประคบร้อนเฉพาะจุดเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีและช่วยบรรเทาอาการปวด
- หลังจากบรรเทาอาการคอตกหมอนลงแล้ว สามารถบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อคอ เพื่อช่วยเร่งการฟื้นตัวได้
- สอบถามข้อมูล หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่ "ทีมหมอจีน" คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โทร 02 223 1111
- เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 16:00 น.
- LINE OA: @huachiewtcm
- Facebook: หัวเฉียวแพทย์แผนจีนกรุงเทพ Huachiew TCM Clinic