นักศึกษาสำนักวิชาแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ประกอบด้วย นายกรวิชญ์ ด้วงฉีด นางสาวนันทน์ณิชา หยังหลัง นางสาวจีรณัชย์ ฤทธิเดช และนางสาวณิชาดา ตันติบรรพกุล ภายใต้ชื่อทีมป้าข้างบ้าน ฝ่าด่าน 20 ทีมจากทั่วประเทศ คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) เวทีประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ ในการแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางจิตในชุมชน ผ่านการจัดทำร่างนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมทางสังคม ในหัวข้อ "Community Mental Wellbeing" ซึ่งสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (International Federation of Medical Students' Associations - Thailand) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องประชุมโรงแรม ทีเค.พาเลซแอนด์คอนเวนชั่น ได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท
นายกรวิชญ์ ด้วงฉีด เปิดเผยว่า ผลงานนวัตกรรมและนโยบายสาธารณะด้วยการแก้ปัญหาสุขภาวะทางจิตอย่างเป็นระบบ (Mental Wealth) โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศดังกล่าว เป็นผลงานที่สร้างนวัตกรรมที่เกิดจากค่านิยมของคนไทยที่มองว่า "ป้าข้างบ้าน" เป็นคนอื่นที่มาสนใจเรื่องชาวบ้าน โดยการศึกษาชุมชนต้นแบบพบปัญหาสำคัญต่อสุขภาพจิต คือ 1. ขาดแคลนความรู้และขาดการเข้าถึง 2. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความปลอดภัย และ 3. การซ่อนเร้นความรู้สึกและผู้ป่วยแอบแฝง
โดยมีหลักสำคัญคือ 1. นโยบาย Community Heroes ด้วยการให้ อสม. เป็นแกนนำในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตร่วมกับทางกาย 2. นโยบายวัคซีนใจ คือ การมีพื้นที่ในการเป็นที่ปรึกษาทางใจให้กับชาวบ้าน พัฒนาการสื่อสารสร้างความเข้าใจ 3. Protect your Heart เสนอให้มีการตรวจสุขภาพจิตในการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อการคัดครอง 4. Family First Safe หน่วยงานที่เกี่ยวกับเด็กและครอบครัว เข้ามาให้ความรู้พ่อแม่ในการมีบุตรตั้งแต่ก่อนและหลังตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และ 5. Mental Wealth for Education ส่งเสริมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสุขภวะทางจิตในสถานศึกษา รวมทั้งสนับสนุนให้มีนักจิตวิทยาในโรงเรียน