บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดตัวสถาบันพัฒนาแรงงานในจังหวัดปทุมธานี ศูนย์ฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานการติดตั้งระบบโซลาเซลล์แห่งใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาทักษะและรับรองมาตรฐานบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถของประเทศไทย ภายในงานยังมีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MoU) ในการสานต่อความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยและกพร. เพื่อผลักดันการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการ "เติบโตพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย" โดยมีผู้บริหารจากหัวเว่ยและตัวแทนจากกพร. เข้าร่วมพิธีเปิดและพิธีลงนาม
ศูนย์ฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานการติดตั้งระบบโซลาเซลล์แห่งใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยและกพร. ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในด้านการติดตั้งระบบพลังงานดิจิทัลในประเทศไทย และสร้างอีโคซิสเต็มของบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมโซลาเซลล์และโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสีเขียวในประเทศ ศูนย์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมทักษะการติดตั้งหลังคาโซลาเซลล์ ด้วยการอบรมให้ความรู้และทักษะเรื่องเทคโนโลยีระบบพลังงานดิจิทัลใหม่ล่าสุดที่จะช่วยส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย
นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวในงานเปิดตัวครั้งนี้ว่า: "หัวเว่ยเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงความมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านบุคลากรดิจิทัลในอนาคต แต่ยังมีศักยภาพในการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านระบบพลังงานดิจิทัลอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคอีกด้วย โดยปัจจุบัน หัวเว่ยได้ริเริ่มโครงการโซลาเซลล์สำหรับที่อยู่อาศัยหลากหลายโครงการในประเทศไทย และได้ร่วมมือกับพันธมิตรในภาคเอกชน หน่วยงานรัฐบาล และสถาบันการเงินหลากหลายองค์กรเพื่อส่งเสริมการใช้โซลูชันพลังงานสะอาดให้แพร่หลายในที่อยู่อาศัยและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย การเปิดตัวศูนย์อบรมในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมไปถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการช่วยให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียน"
นางจิรวรรณ สุตสุนทร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวในพิธีว่า: "การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีผลิตภาพสูง รองรับความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ ถือเป็นภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการตอบสนองยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยเริ่มหันมาใช้พลังงานทดแทนซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตไฟฟ้า แต่ยังขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการติดตั้งระบบโซลาเซลล์จำนวนมาก ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านดิจิทัลรวมทั้งการเปิดศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีด้านการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ ทางกระทรวงแรงงานต้องขอขอบคุณ หัวเว่ย ประเทศไทย ที่สนับสนุนเครื่องมืในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีด้านการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่นำมาพัฒนากาลังแรงงาน ให้มีความรู้ และความสามารถมากยิ่งขึ้น"
ความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับกพร. เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ประเทศไทยที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ณ การประชุม COP26 โดยตั้งเป้าที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2608 เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว หัวเว่ยได้ตั้งส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัลขึ้นในปี 2565 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานระบบโซลาเซลล์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนโครงการในประเทศจำนวน 30,000 โครงการ และสร้างทักษะให้บุคลากรไทยจำนวน 10,000 คนในระยะเวลาสามปีอย่างต่อเนื่อง โดยหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการส่งมอบโซลูชันพลังงาน FusionSolar ร่วมกับธนาคารในประเทศเพื่อเปิดตัวสินเชื่อเทคโนโลยีสีเขียว และจับมือกับห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ในการติดตั้งโซลาฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ บนหลังคาห้างสรรพสินค้า ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4,000 ตัน นับตั้งแต่การติดตั้งในปี 2564
นอกจากด้านการส่งเสริมทักษะและการแลกเปลี่ยนความรู้ ศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวยังจะส่งมอบประกาศนียบัตรร่วมให้กับบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านระบบพลังงานดิจิทัล ยกระดับประสิทธิภาพและความรวดเร็วในโครงการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ทั่วประเทศ การร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การอบรมและการรับรองมาตรฐานร่วมกันให้แก่บุคลากรด้านพลังงานดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมโซลาเซลล์ แต่ยังทำให้เกิดสาธารณประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งรวมถึงโอกาสในการสร้างงาน การยกระดับคุณภาพในการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ รวมถึงปูทางให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหรกรรมและภาครัฐต่อไป
"นอกจากการเปิดตัวศูนย์ฯ เรายังมีความยินดีที่ได้สานต่อความร่วมมือด้วยบันทึกข้อตกลง (MoU) กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่จะจะมุ่งเน้นเรื่องการอบรมด้านเทคโนโลยี 4G และ 5G การติดตั้งระบบโซลาเซลล์ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยบนคลาวด์ให้บุคลากรในประเทศ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้ เราจะผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน โดยสร้างความเติบโตให้แก่เทคโนโลยีสีเขียว และพัฒนาความสามารถให้กับบุคลากรในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยเป็นแรงผลักดันให้อนาคตของประเทศไทยเป็นไปในแนวทางเดียวกับพันธกิจของเรา ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่ทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างประเทศไทยที่เชื่อมต่อ อัจฉริยะ และคาร์บอนต่ำ" นายเดวิดกล่าวปิดท้าย