ปัจจุบันสภาพอากาศมีความแปรปรวนและเต็มไปด้วยมลภาวะ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนบางครั้งก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย ๆ และอาการต่าง ๆ ทั้งไอ จาม และน้ำมูกก็ตามมา โดยหลายคนอาจมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณศีรษะ ใบหน้า กระบอกตา และโหนกแก้มร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอาการของ 'โรคไซนัสอักเสบ' ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่รุนแรงกว่า และถ้าไม่รักษาโดยไวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ วันนี้ ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ ศูนย์หู คอ จมูก รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงความอันตรายของโรคไซนัสอักเสบ พร้อมบอกปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้เราสามารถป้องกันและเข้ารับการรักษา ได้ทันก่อนอาการหนักโดยไม่รู้ตัว
'โรคไซนัสอักเสบ' คืออะไร
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกบริเวณรอบ ๆ จมูกที่ช่วยลดน้ำหนักของกะโหลกไม่ให้หนักเกินไป ซึ่งถ้าเยื่อบุไซนัสถูกกระตุ้นจากฝุ่น เชื้อโรค มลภาวะ สารพิษ หรือปัจจัยอื่น ๆ ก็จะทำให้ไซนัสเกิดการอักเสบได้ โดยผู้ป่วยไซนัสอักเสบมักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกลงคอ ไอ ปวดบริเวณใบหน้าหรือศีรษะ ได้กลิ่นลดลง และในบางคนจะได้กลิ่นเหม็นจากภายในจมูก ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายเพิ่มว่า "คนมักสับสนระหว่างไข้หวัดกับโรคไซนัสอักเสบ เพราะมีอาการคล้ายกัน โดยเฉพาะโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่มักจะเกิดหลังจากเป็นหวัด หรือตอนที่อาการของหวัดเริ่มดีขึ้น แต่อยู่ ๆ ก็อาการหนักขึ้นมา และอาจมีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย"
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา มีอาการฟันผุจนเชื้อลุกลามเข้าไปในไซนัส ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคว่า "ในกรณีไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อ แล้วมีการอักเสบไปที่บริเวณไซนัส แต่ในกรณีไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีปัจจัยส่งเสริมได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ คือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ความไม่สมดุลของภูมิคุ้มกันกับสิ่งแวดล้อม และมลภาวะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน"
'ไซนัสอักเสบ' เป็นแล้วรีบรักษาก่อนแทรกซ้อนลามขึ้นตา-สมอง
ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคไซนัสมักจะเกิดในคนไข้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยเชื้ออาจลุกลามเข้าตา ทำให้ตาบวม ตามัว เห็นภาพซ้อน หรือตาบอดได้ และในกรณีที่ลุกลามขึ้นสมอง ก็จะทำให้ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองหรือเป็นฝีเป็นหนองในสมอง ผู้ที่ป่วยเป็นไซนัสอักเสบจึงควรรักษาอาการให้ดีก่อนเป็นอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
แพทย์เตือน PM 2.5 อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ-เสี่ยงไซนัสอักเสบเรื้อรัง
PM 2.5 เป็นอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก ๆ ซึ่งเมื่อเราสูดเข้าไปก็จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง คนที่เจอ PM 2.5 เยอะ ๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM 2.5 สูง ก็จะทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเข้าไปสะสมในเยื่อบุไซนัสมากขึ้น ทดแทนแบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในโพรงไซนัสเดิม ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจหลั่งสารออกมาต่อต้าน ซึ่งมักจะอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่อาการไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ด้วย โดยแพทย์ รพ.วิมุต แนะนำให้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
วิธีการดูแลรักษาโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อ จะสามารถรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ และให้ยาลดบวมตามความเหมาะสมของแต่ละคน ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรัง จะรักษาได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับอาการ เช่น ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ พ่นยาสเตียรอยด์ กินยาฆ่าเชื้อ และการผ่าตัดไซนัสด้วยกล้องเอนโดสโคป นอกจากนี้ หากรักษาอาการของโรคอื่น ๆ ที่กระตุ้นการอักเสบและติดเชื้อของไซนัส เช่น ฟันผุ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ก็สามารถช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นได้
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายวิธีการรักษาเพิ่มเติมว่า "ในกรณีของผู้ป่วยไซนัสอักเสบบางประเภท เช่น ไซนัสอักเสบที่รักษาด้วยยาไม่หาย ไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา ไซนัสอักเสบเรื้อรังแบบที่มีริดสีดวงจมูก แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีสำหรับการผ่าตัดไซนัสที่เรียกว่า Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดไซนัสโดยใช้กล้องเอนโดสโคป ที่ไม่มีแผลบริเวณใบหน้า ส่วนจะไซนัสไหนบ้าง ผ่ามากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวโรคของแต่ละคน"
"ปัจจุบันเราเจอทั้งมลภาวะและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อาจเสี่ยงต่อโรคไซนัสอักเสบได้ เราจึงต้องรักษาสุขภาพให้ดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการอักเสบของไซนัส และปกป้องระบบทางเดินหายใจของเรา" ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 5 ศูนย์หู คอ จมูก หรือโทรนัดหมาย 02-079-0050 เวลา 08.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX