"ปทุมธานี" เป็นพื้นที่จังหวัดเครือข่ายพันธมิตรของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
จังหวัดปทุมธานีพื้นที่ทั้งหมด 953,660 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 353,308.17 ไร่ (36.66% ของพื้นที่ทั้งหมด) เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช 332,992.02 ไร่ ได้แก่ ข้าว 248,536.81 ไร่ ไม้ผล 35,895.55 ไร่ ไม้ยืนต้น 15,418.63 ไร่ พืชผัก 21,445 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 6,093.14 ไร่ พืชไร่ 3,837.77 ไร่ สมุนไพร 1,765.13 ไร่ และพื้นที่ประมง 20,316.15 ไร่ (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดปทุมธานีเป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัด สภาพดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวจัด เป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดจัด มี pH ประมาณ 6-4 เนื่องจากลักษณะดินเป็นดินเหนียวทำให้การระบายน้ำไม่ดี และการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้า ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชไร่ และการปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของดินเพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดีขึ้น
วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นำความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ตลอดจนเทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดปทุมธานี ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มุ่งเน้นให้การทำเกษตรกรรมของจังหวัดได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมั่นคงในอาชีพ จากการดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1) การผลิต ได้แก่ การพัฒนาปัจจัยการผลิตเฉพาะพื้นที่ (พันธุ์พืช ปุ๋ย ชีวภัณฑ์) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่
2) สารสกัด ได้แก่ การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ
เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. ที่นำไปขับเคลื่อนการเกษตรของจังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย
การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตชะลอความสูงของต้นกล้วยโดยใช้ฮอร์โมน (กล้วยต้นเตี้ย) พร้อมจัดทำแปลงสาธิตในแปลงเกษตรกร สนับสนุนสารควบคุมการเจริญเติบโต "พาโคลบิวทราโซล" และปุ๋ยเพื่อใช้กับแปลงทดลอง ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรมการผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อลดการหักล้มจากพายุ ทำให้ต้นเตี้ย ลำต้นแข็งแรง สามารถต้านพายุฤดูร้อนได้ 100% ปลูกชิดได้มากขึ้น ให้ผลผลิตเร็ว มีต้นทุน 1 บาทต่อต้น ลดความเสียหายได้ดี ช่วยลดการสูญเสียจากลม และการให้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังส่งผลดีต่อการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ
การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดผลกล้วย (กล้วยผลโต) จัดทำแปลงทดลองในแปลงเกษตรกร และสนับสนุนสารควบคุมการเจริญเติบโต "จิบเบอเรลลิน" เทคโนโลยีการผลิตกล้วยผลโตโดยใช้ฮอร์โมน ทำให้กล้วยมีขนาดผลเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มขนาด น้ำหนักของผลกล้วยหอมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 จำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น
การปลูกเลี้ยงกล้วยปลอดโรค ได้แก่ กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้ายักษ์ และกล้วยหักมุก โดยถ่ายทอดการผลิตต้นกล้าและมอบกล้วยปลอดโรคให้เกษตรกรเพื่อใช้เป็นต้นพันธุ์ในการปลูก
ปุ๋ยเสริมซีลีเนียมในกล้วย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการผลิตอาหารเชิงหน้าที่ ด้วยการเพิ่มคุณค่าอาหารในผลผลิตการเกษตรผ่านทางการให้ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่ายแก่ผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต
สารชีวภัณฑ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการผลิตและขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเชื้อเหลวด้วยถังหมักอย่างง่ายโมเดล วว. และได้มอบถังขยายชีวภัณฑ์ วว. จำนวน 6 ถัง ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปผลิตชีวภัณฑ์ในระบบกระบวนการปลูกกล้วยหอมทอง ข้าว และผัก ในพื้นที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลบึงทองหลาง /ตำบลบึงสนั่น /ตำบลหน้าไม้ วิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองปทุมรัตน์ วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม และกลุ่มแปลงใหญ่ผักร่วมใจบางเตย
พัฒนาและยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสารสกัดข้าวหอมปทุมธานี กล้วยหอมปทุม และบัวหลวง โดยนำเปลือกกล้วยหอมทอง กลีบบัวหลวงและข้าวหอมปทุมธานี 1 งอก มาเป็นวัตถุดิบในการสกัดสารและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในกลุ่มของเซรั่ม ครีม โลชั่น สครับ สบู่ แชมพู และโทนเนอร์ พร้อมทั้งออกแบบฉลากสินค้าและวัสดุบรรจุของผลิตภัณฑ์ ดำเนินการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 21 ผลิตภัณฑ์ และผลิตสินค้าสำเร็จรูปพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ผลการดำเนินงานของ วว. ณ จังหวัดปทุมธานี สำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้
1) ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ จำนวน 1,813 ราย ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร
2) พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่นได้จำนวน 21 ผลิตภัณฑ์
3) ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร 13.6665 ล้านบาท เกิดการลงทุนของผู้ประกอบการในผลิตภัณฑ์ใหม่ 5.8658 ล้านบาท
4) สร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น 133.9421 ล้านบาท
5) กระตุ้นการบริโภคของประชาชนทั้งภายในและนอกพื้นที่ 133.9421 ล้านบาท
6) เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 20.7858 ล้านบาท ผลกระทบทางสังคม 0.3001 ล้านบาท
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปช่วงท้ายว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีของ วว. สู่จังหวัดปทุมธานีดังกล่าว ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนจากสินค้าเกษตรคุณภาพดี และผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้มแข็งและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม