การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกองค์กร ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ รวมถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทย มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ยูไอ กรีนเมตริก (UI Green Metric World University Ranking) ที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2010 เพื่อตรวจเช็คประเมินตนเอง ได้รู้จุดแข็งและจุดที่ต้องพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล และสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนในที่สุด โดยหนึ่งใน 6 เกณฑ์การประเมินสำคัญของ ยูไอ กรีนเมตริก นั่นก็คือ การจัดการขยะ (Waste) ซึ่งรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
เพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนภารกิจสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียวในไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้เดินหน้า ขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ กับ 9 สถาบันการศึกษาชั้นนำในความร่วมมือโครงการทรู แล็บ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "ทรู แล็บ เป็นโครงการที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 9 แห่งเพื่อร่วมสร้างนวัตกรไทยรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสพัฒนานวัตกรรมและผลงานวิจัยที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย และครั้งนี้ ได้ต่อยอดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในโครงการทรู แล็บ เพื่อขยายจุดตั้งกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ เพื่อให้บุคลากร อาจารย์ และนิสิตนักศึกษา ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวและให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สามารถนำขยะ e-Waste มาทิ้งได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี 100% หยุดวงจรไม่ให้สารพิษกลับมาทำลายสุขภาพของเรา สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน"
ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักในเรื่องความยั่งยืนและมีหน้าที่ที่ต้องให้ความรู้แก่นิสิตและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่ง e-Waste เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนอกจากจะกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพของผู้คนด้วย ดังนั้น การจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีจะมีส่วนส่งเสริมด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของสถาบันในการสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งความร่วมมือกันครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้เส้นทางการรีไซเคิลขยะ e-Waste สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ต้นทางที่ได้รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผู้บริโภค ไปจนถึงปลายทางที่จะถูกทำไปจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป"
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุขและยั่งยืน โดยมีนโยบายออกกฎเหล็ก ห้ามตัดต้นไม้ หากจำเป็นต้องปลูกใหม่ทดแทน รวมถึงรณรงค์ลดการใช้พลังงานและมีแผนที่จะใช้พลังงานทดแทนอย่าง Solar Roof และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ การจัดการขยะ (Waste) ซึ่งรวมถึงขยะ e-Waste ที่ต้องนำไปดำเนินการอย่างถูกวิธี ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหากนำไปฝังกลบจะเกิดผลกระทบต่อไปได้ในอนาคต นับเป็นเรื่องที่ดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมมือกับทรู รณรงค์ให้นิสิตนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งเพื่อรวบรวมไปคัดแยกและรีไซเคิลกลับมาใช้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย"
ทั้งนี้ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ยังสามารถร่วมทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกที่ ดีต่อใจได้ที่ ทรูช้อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทค รวม 154 สาขา ทั่วประเทศ สำนักงานกสทช. รวมถึงโลตัส 20 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และทรูสเปซ ทั้ง 5 สาขา ได้แก่ สยามสแควร์ซอย 2 สาขาไอคอนสยาม สาขาอโศก สาขามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และสาขามหาวิทยาลัยรังสิต อีกด้วย