
อาการ อ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยในวัยทำงานและผู้สูงอายุ หากใครที่กำลังเผชิญกับอาการนี้ หรือรู้สึกอ่อนเพลียขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ บทความนี้เราชวนมาหาคำตอบว่าอาการนี้คืออะไร และจะสามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีใดบ้าง ติดตามกันได้เลย
อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง คืออะไร
อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome: CFS) หรือกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง คือกลุ่มอาการที่มีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน โดยไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมหรือการออกกำลังกาย และไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยการพักผ่อน โดยอาการอื่น ๆ ที่พบร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ได้แก่
- นอนหลับไม่สนิท
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อ่อนแรง
- เหนื่อยล้าง่าย
- มีปัญหาในการจดจำและสมาธิ
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
สาเหตุของอาการอ่อนเพลียเรื้อรังยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการร่วมกัน เช่น
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- ความผิดปกติของระบบประสาท
- ความผิดปกติของระบบฮอร์โมน
- ปัญหาสุขภาพจิต
ซึ่งในปัจุบันนี้ ต้องบอกว่าอาการอ่อนเพลียเรื้อรังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการ เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ อาจใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งการบรรเทาด้วยยา ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อยามารับประทานเองได้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้อาการอ่อนเพลียเรื้อรังรุนแรงมากกว่าเดิม และเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาด้วย ดังนั้น หากใครมีอาการอ่อนเพลียมาเป็นเวลานาน จนกระทบกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม
วิธีบรรเทาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังเบื้องต้น
วิธีบรรเทาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ โดยวิธีทั่วไปที่สามารถทำได้ ได้แก่
- พักผ่อนให้เพียงพอ: ผู้ใหญ่ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน หากนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท อาจใช้ยานอนหลับหรือปรับพฤติกรรมการนอน เช่น เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มระดับพลังงานและช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เลือกออกกำลังกายที่เหมาะกับสภาพร่างกาย เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: รับประทานอาหารที่ครบหมู่และหลากหลาย เน้นผักและผลไม้สด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการ: หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นอาการอ่อนเพลีย เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ การสูบุหรี่ การอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนหรือเย็นจัด