ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสมุนไพรจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพร่างกายของพี่น้องชาวไทยกันมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ หรือเมนูอาหารในชีวิตประจำวันมีการประยุกต์นำสมุนไพรจีนเข้ามาใช้ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพร่างกายกันมากขึ้น
วันนี้หมอจีนมีตัวอย่างยาสมุนไพรจีนที่นิยมนำมาใช้ในการดูแลร่างกาย โดยเน้นไปที่การดูแลระบบทางเดินอาหารโดยตรง
1. ฝูหลิง (โป่งรากสน) (??) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักจะถูกเลือกใช้อยู่ในตำรับยาหลาย ๆ ตำรับที่ใช้กันบ่อยครั้ง มีคุณสมบัติในการบำรุงกระเพาะและม้ามให้แข็งแรง เหมาะสำหรับท่านที่ถ่ายเหลว ท้องเสียบ่อย อีกทั้งช่วยในด้านอาการเวียนศีรษะ ปัสสาวะน้อย นอนไม่หลับที่เกิดจากกระเพาะและม้ามอ่อนแอได้ดีอีกด้วย
2. ไป๋จู๋ (โกฐเขมา) (??)คุณสมบัติของไป๋จู๋ นับว่าค่อนข้างครบครันในการดูแลกระเพาะและม้าม คล้ายกับฝูหลิง ที่สามารถทำได้ทั้งบำรุงกระเพาะและม้าม ขับน้ำ สลายความชื้น ควบคุมเหงื่อ ที่สำคัญสำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตร สมุนไพรตัวนี้สามารถบำรุงได้ด้วยเช่นกัน เราจึงมักจะเห็นสมุนไพรอย่าง ไป๋จู๋ ได้บ่อยและอยู่ในสูตรยาหลายตำรับที่ใช้ดูแลทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน
3. ปั้นเซี่ย (โหราข้าวโพด) (??)สมุนไพรชนิดนี้ หากรับประทานเพียงตัวเดียวและไม่ได้ผ่านการแปรรูปเสียก่อน จะเกิดพิษต่อร่างกายได้สูงมาก โดยมากในประเทศไทยจะผ่านการแปรรูปแล้ว พิษของมันจึงลดน้อยลงและเมื่อใช้ร่วมกับยาตัวอื่นก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น นิยมใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเสมหะและความชื้นเยอะ มีอาการท้องอืดแน่น คลื่นไส้อาเจียน และใช้ควบคู่กับยาสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อรักษาโรคยอดฮิตอย่างกรดไหลย้อนได้ดีอีกด้วย
4. ต้าเจ่า (พุทราจีน) (??)สมุนไพรที่หลาย ๆ คุ้นเคย มักจะอยู่ในขนมหรืออาหาร พุทราจีนเป็นอีกตัวหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลกระเพาะและม้าม โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกายผอมแห้ง ทานข้าวไม่อร่อย หิวบ่อย นิยมใช้พุทราจีนในการเสริมร่างกายให้แข็งแรง สามารถนำไปต้มเป็นน้ำดื่มต่างหากเพื่อใช้ในการบำรุงร่างกายทั่วไปได้ดีอีกด้วย แต่หากท่านใดร้อนในง่าย ควรปรึกษาแพทย์และไม่แนะนำให้รับประทานเพียงตัวเดียว
5. อี้อี่เหริน (ลูกเดือย) (???)เป็นสมุนไพรจีนอีกตัวที่น่าจะรู้จักกันมากที่สุด เพราะอยู่ตามร้านน้ำแข็งใสที่เราชอบรับประทานกัน ลูกเดือยมีส่วนช่วยในการบำรุงม้าม ขับชื้น แถมมาด้วยความสามารถในการช่วยบรรเทาอาการปวดไขข้อที่มาจากความชื้น รักษาอาการท้องเสียถ่ายเหลวได้อีกด้วย แต่อาจจะต้องระวังให้ดีเพราะหากท่านใดท้องผูก กระเพาะและม้ามอ่อนแอแบบไม่มีความชื้นหรือแม้แต่คนท้อง ก็ไม่ควรหารับประทานควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนจีน
เนื่องจากสมุนไพรจีนมีความหลากหลายค่อนข้างสูง การรับประทานเองนั้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายและก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์แผนจีนและทำการรักษาฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้น สมุนไพรที่ว่าดีอาจจะกลายเป็นโทษแก่ตัวของท่านเองได้
ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพ กระเพาะ ลำไส้ ที่ดีและแข็งแรง
- สอบถามข้อมูล หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่ "ทีมหมอจีน" คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โทร 02 223 1111
- เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 16:00 น.
- LINE OA: @huachiewtcm
- Facebook: หัวเฉียวแพทย์แผนจีนกรุงเทพ Huachiew TCM Clinic
- Website: www.huachiewtcm.com