กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--กบข.
กบข.เผยสถานการณ์ลงทุนปีนี้มีความเสี่ยงที่หลากหลาย จากปัญหาเศรษฐกิจโลก ชะลอตัว — เงินเฟ้อ- น้ำมันแพง เตรียมปรับแผนการลงทุนในประเทศ - ต่างประเทศ กระจายความเสี่ยง พร้อมเผยผลประกอบการตอบแทนสิ้นไตรมาสแรกกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงแผนการลงทุนและทิศทางการลงทุนของ กบข.ในปีนี้ว่า การลงทุนในปีนี้ยังคงเผชิญความเสี่ยงที่ ท้าทายในการบริหาร โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาซับไพรม์ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงตามราคาอาหาร และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ในประเทศมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าเงินบาทที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายการบริหารจัดการเงินลงทุนในปีนี้ เพราะการไหลเข้า-ออกของเงินจะมีความรวดเร็ว เห็นได้จากในช่วงไตรมาสแรกที่ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนเป็นอย่างมาก
พร้อมกันนี้นายวิสิฐยังได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ กบข.ที่ผ่านมาว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 มีสินทรัพย์สุทธิจำนวน 380,812.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 ที่อยู่ที่ 375,551ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนการลงทุนย้อนหลัง 12 เดือน ( เมษายน 2550-มีนาคม 2551) ให้ผลตอบแทน ร้อยละ 5.54 หรือให้ผลตอบแทนสูงถึง 16,169 ล้านบาท เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.41 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.86
ปัจจุบัน กบข.มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศร้อยละ 67.96 ตราสารทุนในประเทศร้อยละ 11.13 ตราสารต่างประเทศร้อยละ12.39 อสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 3.99 และการลงทุนทางเลือกร้อยละ 4.53 สำหรับอัตราผลตอบแทนสุทธิย้อนหลัง 3 ปี (2548-2550) อยู่ที่ร้อยละ 6.47 ย้อนหลัง 5 ปี (2546-2550) อยู่ที่ร้อยละ6.61 และย้อนหลัง 11 ปี (2540-2550) อยู่ที่ร้อยละ 8.24
นายวิสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่านโยบายการลงทุนของ กบข. ในปีนี้ยังเน้นให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย และล่าสุดได้มีการเพิ่มเพดานการลงทุนต่างประเทศจากร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของเงินกองทุน ซึ่งช่วยให้มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กบข. ยังคงให้ความระมัดระวังกับการลงทุน โดยได้มีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจตลอดเวลา รวมถึงระบบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด