อาชีพไหนเสี่ยงปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 2, 2024 08:48 —ThaiPR.net

อาชีพไหนเสี่ยงปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

คุณรู้หรือไม่ว่าอาชีพก็มีส่วนเป็นตัวกำหนดสุขภาพในอนาคต ด้วยปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ของอาชีพที่ทำอยู่ ทำให้เราสามารถคาดคะเนได้ว่าอนาคตคุณมีความเสี่ยงของการเกิดโรคใดบ้าง อาทิ ทำงานในโรงงาน เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ อาชีพดีเจ เสี่ยงต่อการเป็นโรคบกพร่องเกี่ยวกับการได้ยิน อาชีพนักร้องเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล่องเสียงอักเสบ เป็นต้น แต่มีโรคอีกประเภทที่ไม่ต้องรอให้ถึงอนาคตก็เข้ามาทักทายเยี่ยมเยือนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางครั้งเข้ามารบกวนชีวิตการทำงาน เป็นๆ หายๆ ไม่เลิก ไม่ว่าจะเป็นการปวดศีรษะ ปวดบ่า ปวดไหล่  ปวดสะบัก ปวดหลัง และอีกหลากหลายสารพัดโรคปวด อาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังในบริเวณอวัยวะที่ถูกใช้ในท่าซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ หรือที่เราเรียกว่า อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง พบบ่อยในคนวัยทำงานที่มี พฤติกรรมหรือการทำกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำๆ กัน เช่น ใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ถือหรือสะพายของหนักๆ ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ เป็นต้น

คุณเพ็ญพิชชากร  แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ อาชีพที่มีความเสี่ยงต่ออาการปวดเรื้อรังในแต่ละประเภทไว้ดังนี้

  • นักวิศวกร มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ และใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ รวมไปถึงข้อมืออีกด้วย
  • ดีไซน์เนอร์ มีพฤติกรรมการขีดๆ เขียนๆ ออกแบบวาดรูปเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นข้อ หัวไหล่ ข้อมือ และอาจจะมีอาการของนิ้วล็อคร่วมด้วยได้
  • แอร์โฮสเตส มีพฤติกรรมการทำงานที่ต้องยกของหนัก เอื้อมหยิบ-เก็บของบนที่สูง เข็นรถและเสิร์ฟอาหาร เป็นประจำ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบ่า สะบัก หัวไหล่ รวมไปถึงท่อนแขนได้อีกด้วย
  • เซลล์แมน มีพฤติกรรมการยกของของหนัก ขับรถเป็นเวลานาน ใช้คอมพิวเตอร์ คุยโทรศัพท์ ใช้สมาร์ทโฟนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นข้อ หัวไหล่ ข้อมือ และอาจจะมีอาการของนิ้วล็อคร่วมด้วยได้
  • นักคอมพิวเตอร์ มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรม ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาจรวมไปถึงมึนศีรษะ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการของไมเกรนอีกด้วย
  • นักบัญชี พฤติกรรมก้มๆ เงยๆ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานและใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันกับตัวเลขเอกสารต่างๆ มากมาย จึงทำให้นักบัญชีมีความเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาจรวมไปถึงอาเจียน ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของไมเกรน
  • สถาปนิก มีพฤติกรรมการขีดๆ เขียนๆ ออกแบบ เขียนแบบแปลนเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ ข้อมือ มีอาการของนิ้วล็อค และชาที่แขนร่วมด้วยได้
  • โฟร์แมน มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ อยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อคอ บ่าอักเสบ ตาพร่า มีโอกาสเสี่ยงเป็นไมเกรนได้
  • ทันตแพทย์ มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ บิดตัว เอี้ยวตัว เกร็งข้อมือและนิ้วมือ ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ส่งผลทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคปวดบ่า ต้นคอ สะบัก หลัง รวมไปถึงอาจจะเป็นนิ้วล๊อคได้
  • ผู้บริหาร มีพฤติกรรมใช้งานคอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อีกทั้งมีความเครียดสูง มีผลทำให้กล้ามเนื้อต้นคอเกร็ง ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะไม่เพียงพอ มึนศรีษะ ปวดขมับ ปวดกระบอกตา ตาพร่า นอนไม่หลับ จนส่งผลให้เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้
  • นอกจากการทำพฤติกรรมซ้ำๆเดิมๆ เป็นประจำแล้ว ภาวะความเครียด การออกกำลังกายที่น้อยลง ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาทางร่างกาย จิตใจ คุณภาพชีวิตและสุขภาพอีกด้วย ทางที่ดีควรดูแลตนเอง และหาวิธีป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ