Elang องค์กรสิ่งแวดล้อมในอินโดฯ ส่งเสริมการเกษตรในป่าพรุ โมเดลการจัดการให้คนอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 2, 2024 10:31 —ThaiPR.net

Elang องค์กรสิ่งแวดล้อมในอินโดฯ ส่งเสริมการเกษตรในป่าพรุ โมเดลการจัดการให้คนอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน

พื้นที่พรุ หรือป่าพรุ (Peatlands) เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าที่สำคัญของโลก ที่แม้จะมีพื้นที่เพียงแค่ 3% ของโลก แต่มีความสามารถในการสะสมคาร์บอนมากกว่าผืนป่าทั้งโลกอย่างน้อย 2-3 เท่า โดยป่าพรุ 4.7% หรือประมาณ 150 ล้านไร่อยู่ในอาเซียน โดยประเทศที่มีป่าพรุมากที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และปาปัวนิวกีนี สำหรับประเทศไทยป่าพรุจัดเป็นป่าที่มีความสำคัญและหายากโดยมีอยู่เพียง 400,000 ไร่เท่านั้น โดยป่าพรุสิรินธร (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาสเป็นป่าพรุขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศครอบคลุมพื้นที่ 193,556 ไร่ ที่ผ่านมาป่าพรุในอาเซียนเผชิญกับความท้าทายจากการถูกทำลายด้วยไฟป่า และการแผ้วพื้นที่ทางเพื่อทำการเกษตร โดยเมื่อปี 2558 ไฟป่าครั้งใหญ่ที่อินโดนีเซีย ได้เผาทำลายป่าพรุไปกว่า 16.25 ล้านไร่ แต่ความเสียหายที่เกิดจากแผ้วถางพื้นที่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันก็มีไม่น้อยกว่ากัน

การจัดการให้เกษตรกรอยู่ร่วมกับป่าพรุอย่างยั่งยืนนั้นเป็นโมเดลที่น่าสนใจ องค์กร Perkumpulan Elang เป็นองค์กรภาคเอกชนของอินโดนีเซีย ที่มีบทบาทในการสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าพรุอย่างยั่งยืน ได้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกษตรกร ตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาระดับนโยบายและวิถีชีวิตแบบทางเลือกผ่านแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เช่น การทำการเกษตรบนพื้นที่พรุ (Paludiculture) การปลูกพืชทางเลือก เช่น สับปะรด แตงโม มะเขือยาว พริกไทย และถั่วฝักยาว ที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่าการทำสวนปาล์มน้ำมัน

มูฮัมหมัด ยูซุฟ ประธานกลุ่มเกษตรกร Cemerlang Forest Farmers หมู่บ้านเดยัน (dayun) หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับ Perkumpulan Elang จัดแสดงฟักทองขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัมที่เก็บเกี่ยวจากได้ที่ดิน เขาได้เปลี่ยนพื้นที่ป่าพรุขนาด 12.5 ไร่ ให้กลายเป็นโอเอซิสที่ปลูกพืชได้เจริญงอกงามให้ผลผลิตที่สูงขายได้ราคาดี ไม่ว่าจะเป็น ฟักทอง แตงโม มะเขือยาว มะเขือม่วง พริกไทย ควบคู่ไปกับการดูแลไม้ใหญ่ในป่าพรุ เช่น สยาแดง สาคู ลำใยคริสตัล และยางพารา แสดงให้เห็นว่าการทำฟาร์มควบคู่กับป่าเป็นรูปการเกษตรแบบผสมผสาน ที่เกษตรกรสามารถทำการเกษตรควบคู่กับการดูแลผืนป่าอย่างยั่งยืน แทนที่จะแผ้วถางทำลายเพื่อทำสวนปาล์ม

มูฮัมหมัด ยูซุฟ ทำเกษตรในป่าพรุ ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม กับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมที่รุกล้ำพื้นที่ป่า เขาและเพื่อนเสนอทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ดีกว่า โดยไม่สร้างผลกระทบกับระบบนิเวศที่เปราะบาง พวกเขาแสดงให้เห็นว่า การปลูกพืชในพื้นที่ป่าพรุสามารถเจริญเติบโต ป่าได้รับการฟื้นฟู และสนับสนุนชุมชนโดยรอบได้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

"เราอยากส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นทำเกษตรโดยการปลูกพืชสวน เพื่อการพึ่งพาตนเอง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยกลุ่มเกษตรกร Cemerlang Forest Farmers ทุ่มเทอย่างมากในการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าพรุ เพื่อค้นหาพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับฟาร์มในป่าพรุ ที่ต้องใช้เทคนิคเฉพาะตัว ทั้งการปรับปรุงสภาพดิน การบดอัดดินอย่างระมัดระวัง การจัดการน้ำและการป้องกันการสูญเสียน้ำจากพื้นดิน ตลอดจนถึงการปรับปรุงและเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นอย่างเหมาะสม" มูฮัมหมัด ยูซุฟ กล่าว

ปัจจุบันพื้นที่ป่าพรุกว่า 131 ล้านไร่ในอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกทำลาย พื้นที่ประมณ 47 ล้านไร่ถูกแผ้วถางเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและสวนป่าอุตสาหกรรม (HTI) ที่นำไปสู่ความเสียหายและความเสื่อมโทรมของดินและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในจำนวนนี้มีพื้นที่มากกว่า 5% ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

ความร่วมมือของ Perkumpulan Elang และเกษตรกรอย่าง มูฮัมหมัด ยูซุฟ และหน่วยงานภาครัฐในการทำฟาร์มในป่าพรุ ช่วยให้เกษตรกรให้หมู่บ้านเดยันลดการปลูกปาล์มน้ำมัน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากไฟป่าได้ในที่สุด เรื่องราวของมูฮัมหมัด ยูซุฟ เป็นความหวังในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่เผยให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องพื้นที่ป่าพรุของอินโดนีเซียและอาเซียน และศักยภาพของพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการนำพืชผลทางเลือกและการประยุกต์แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ควบคู่กับปกป้องระบบนิเวศน์ที่ละเอียดอ่อนของโลก ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าพรุในอาเซียนและอินโดนีเซีย และเพื่อเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศโลกแล้ว

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ