นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า สถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 69,955 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่ในเดือน พ.ย.66 จำนวน 10,645 ราย คิดเป็นอัตราป่วยสะสม 1,273.08 ราย/ประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิตสะสม 2 ราย คิดเป็นอัตราตายสะสม 0.036 ราย/ประชากรแสนคน อัตราป่วยตายร้อยละ 0.003 อัตราส่วนผู้ป่วยชายต่อหญิง คือ 1 : 0.91 อัตราป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุสูงสุดคือ 5-9 ปี รองลงมา ได้แก่ 10-14 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ ร้อยละของผู้ป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุสูงสุดคือ 5-9 ปี ร้อยละ 18.85 รองลงมาได้แก่ 10-14 ปี ร้อยละ 16.53 และ 25-29 ปี ร้อยละ 7.92 ตามลำดับ โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ย.66 จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบว่า สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง คิดเป็น 4.41 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน
กทม.ได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.และโรงเรียนในสังกัด กทม.ในทุกระดับชั้นในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งแบบแผ่นพับและสื่อออนไลน์ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและผู้ปกครองป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเน้นแนวทางการคัดกรองนักเรียนที่มีอาการป่วยและแยกเด็กที่ป่วย หรือมีอาการเข้าข่ายโรคไข้หวัดใหญ่ให้โรงเรียนได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติ และควรแยกนักเรียนไปในที่ ๆ จัดเตรียมไว้และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพบแพทย์และพักรักษาตัวที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเด็กนักเรียนและการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อจากฝอยละอองจากการไอ หรือจามรดกัน หรืออาจติดต่อจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย วิธีการป้องกัน ได้แก่ ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอ จาม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อป่วยควรหยุดเรียนหยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด และเมื่อมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดให้รีบสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากพบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรีบรับประทานยา พักผ่อนมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำสะอาด ประมาณ 5-7 วัน หรือจนอาการดีขึ้น