ปัญหากล่องดำทางการศึกษา กับภาวะผู้นำทางวิชาการของ ผอ.โรงเรียนในไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 3, 2024 15:49 —ThaiPR.net

ปัญหากล่องดำทางการศึกษา กับภาวะผู้นำทางวิชาการของ ผอ.โรงเรียนในไทย

ผู้อำนวยการโรงเรียน ในฐานะ "กล่องดำทางการศึกษา" ในประเทศไทย ปัจจุบันได้ประสบกับปัญหาการปรับตัวเพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในโรงเรียนที่มีบริบทต่างกัน และความซับซ้อนของงานที่ต้องทำหน้าที่ทั้งการเป็นครู และการเป็นผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาคือกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้ผู้บริหารได้มีภาวะผู้นำทางวิชาการ เริ่มต้นจากระบบการคัดเลือกที่ต้องตอบโจทย์ และสอดคล้องกับการเลื่อนวิทยฐานะ รวมถึงต้องทำให้สังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ใช้งานวิจัยและข้อมูลเป็นฐานให้มากขึ้น เพื่อช่วยตัดสินใจในการวางนโยบายต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "นโยบายปฏิรูปการศึกษา จากกระทรวงสู่ห้องเรียน" ซึ่งจัดขึ้นในงานเปิดตัว www.Thailandleadership.org เว็บไซต์พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรงเรียน ว่าปัญหากล่องดำทางการศึกษาเกิดจาก 2 เรื่องสำคัญ คือ 1) ผู้บริหารการศึกษาเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งผู้บริหารคนเดียวกัน เมื่อย้ายไปโรงเรียนที่มีบริบทที่แตกต่างกัน จะต้องปรับตัวเองค่อนข้างมากเพื่อให้เข้ากับบริบทนั้น เนื่องจากทฤษฎีภาวะผู้นำต่างๆ ซึ่งถูกนำมาใช้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เป็นทฤษฎีซึ่งมีรากฐานจากทฤษฎีเชิงสถานการณ์ หมายความว่าผู้บริหารงานจะทำงานได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด จะมาจากสถาน การณ์หรือบริบทของแต่ละคน ที่จะต้องไปบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จ 2) เกิดจากความซับซ้อนของงาน จากเดิมที่เคยทำหน้าที่ครู ดูแลห้องเรียน ซึ่งถือเป็นงานที่ยากและท้าทาย เมื่อขึ้นมาเป็นผู้บริหารยังมีงานต่างๆ ที่ยากและท้าทายอีกมากมาย โดยเฉพาะการบริหารบุคคล หากมีจำนวนครูมากปัญหาจะมากขึ้น รวมถึงปัญหาอื่นๆ ในโรงเรียนที่ต้องแก้ไข อาทิ ปัญหางบประมาณ การรับมือกับผู้ปกครอง ความต้องการของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังจะต้องหาเวลาในการพัฒนาตนเอง พัฒนาครู และพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปัญหาความซับซ้อนเหล่านี้ ถือเป็นกล่องดำที่ผู้บริหารแต่ละคน จะต้องบริหารจัดการเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ

รศ.ดร.ธีรภัทร มองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหา คือทางกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบาย ที่จะทำให้ผู้บริหารมีภาวะผู้นำทางวิชาการเป็นจริงขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากระบบการคัดเลือกต้องตอบโจทย์ตั้งแต่ต้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ หลายคนมีความเห็นพ้องเรื่องนี้ และพยายามขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนนโยบายการคัดเลือกผู้บริหาร รวมทั้งให้สอดคล้องกับการเลื่อนวิทยฐานะด้วย

"ที่ผ่านมาเกณฑ์การคัดเลือกจะอนุญาตให้ครูที่ไม่มีวิทยฐานะเข้ามาเป็นผู้บริหารได้ แต่มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารตามเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะแบบใหม่ (วPA) กำหนดให้ผู้ที่จัดเป็นผู้บริหารต้องมีวิทยฐานะครูชำนาญการขึ้นไป และหวังว่าในอนาคตจะผลักดันคุณสมบัตินี้ให้เข้มข้น หมายความว่าเราอยากจะได้ครูชำนาญการพิเศษ ที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีความต้องการที่แตกต่าง" รศ.ดร.ธีรภัทร กล่าวและว่า

นอกจากนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องร่วมมือกับองค์กรภายใน และองค์กรภายนอก รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างมูลนิธิเอเชีย ในการทำให้สังคมเห็นความสำคัญของเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางด้านการศึกษา ให้มีความพร้อมในการขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ว่าจะต้องทำอย่างไรให้สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ในบริบทต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการควรวางนโยบายโดยการใช้งานวิจัยและข้อมูล (Data) มากขึ้น โดยปัญหากล่องดำเกิดจากเหตุผลหนึ่ง คือเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

"เมื่อมีความพยายามผลักดันนโยบาย โดยใช้ข้อมูลเป็นฐานมากขึ้น เช่น การคัดเลือกผู้บริหารปัจจุบันถ้าเราเห็นพัฒนาการของครูที่ตั้งใจจะเข้ามาเป็นผู้บริหาร เราสามารถเก็บข้อมูลเขาตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นอาชีพครูแล้ว นโยบายการย้ายผู้บริหารก็ดี ถ้าเราเก็บข้อมูลดีๆ เป็นฐาน มันจะทำให้แต่ละนโยบายที่จะวาง สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควรพยายามพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ และใช้ข้อมูลในการช่วยตัดสินใจในการวางนโยบายในอนาคตด้วย" รศ.ดร.ธีรภัทร กล่าวในตอนท้าย

สำหรับเว็บไซต์ Thailand Leadership จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิเอเชีย ภายใต้ความร่วมมือของทางกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเหล่าพันธมิตร มีที่มาจากโครงการวิจัยเรื่องจากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ ในปี พ.ศ.2561-2564 ที่ได้มุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างและบทบาทของ "ตัวกลาง" ระหว่าง "ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ" และ "ผลผลิตทางการศึกษา" นั่นคือ "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" ในฐานะ "กล่องดำทางการศึกษา" หรือ "แกนหลักผู้สื่อสารถ่ายทอดนโยบาย" บทสรุปที่ได้คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่จะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่ง ผอ.โรงเรียนและผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ www.Thailandleadership.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ