นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท พร้อมกันทั้ง 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.67 อาจผิดกฎหมายว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานครตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ปี พ.ศ.2558 และปี พ.ศ.2559 ที่ให้ กทม.จัดให้มีการเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายที่ 2 และให้รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยได้จัดทำบันทึกการจำหน่ายทรัพย์สินระหว่าง รฟม.และ กทม.ในปี พ.ศ.2561 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจที่จะจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีการออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารเป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของ กทม. พ.ศ.2552 และเป็นไปตามความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่ กทม.ได้มีหนังสือสอบถามแล้วว่า การออกประกาศเรียกเก็บค่าโดยสารเป็นอำนาจของ กทม.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการ กทม.พ.ศ.2528 ประกอบกับข้อบัญญัติฯ ข้างต้น ซึ่งการเก็บค่าโดยสารตามที่ประกาศนั้น เป็นคนละส่วนกับการจ่ายค่าจ้างเดินรถ และไม่ถือว่าเป็นการยอมรับภาระหนี้ค่าจ้างที่เกิดขึ้น เนื่องจากภาระรายจ่ายค่าจ้าง กทม.ต่อสู้ถึงความไม่ถูกต้องในระเบียบขั้นตอนกฎหมาย หากไม่เก็บจะเป็นการเสียโอกาสในการจัดการรายได้ที่ไม่สามารถย้อนเก็บได้
นอกจากนี้ กทม.ได้เคยเสนอต่อสภา กทม.เพื่อขอรับความเห็นเกี่ยวกับแนวทางค่าโดยสารในที่ประชุมสภา กทม.เมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 และสภา กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในภาพรวมของโครงการฯ โดย สจส.ได้รายงานถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย (ช่วงส่วนต่อขยาย) ซึ่งมีความเหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไปต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการวิสามัญฯ รวบรวมรายงานต่อสภา กทม.
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.ได้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.62 โดยได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการตามคำสั่งฯ ดังกล่าวและได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติจากคณะรัฐมนตรี กทม.จึงได้เสนอแนวทางขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับหนี้ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเดินรถต่อคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยได้ขอให้ กทม.พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี พ.ศ.2572 เห็นว่า ต้องดำเนินการหาผู้ร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งต้องมีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อ กทม.และประชาชนต่อไป