ยูนิลีเวอร์ องค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน สานต่อภารกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยผ่าน "วอลล์ประเทศไทย" เดินหน้าโครงการ "พี่สามล้อวอลล์" โดยผนึกความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เฟ้นหาคนไทยมาร่วมเป็นตัวแทนส่งความสุขให้กับผู้บริโภคผ่านไอศกรีมวอลล์ ตอกย้ำพันธกิจหลักของแบรนด์ในการสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คน พร้อมส่งเสริมการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มเปราะบาง ตั้งเป้า 600 คนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2567
พิธีประกาศความร่วมมือได้รับเกียรติจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธี โดยมี นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนบุคลากรจากกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เข้าร่วมงาน ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายอะบิจิต กุลคาลนิ ผู้อำนวยการธุรกิจไอศกรีมประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า "ยูนิลีเวอร์ ในฐานะองค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดให้แก่โลก ชุมชน และสังคมโดยรวม โครงการ 'พี่สามล้อวอลล์' เน้นย้ำพันธกิจหลักของแบรนด์วอลล์ในการสร้างและเชื่อมโยงไอศกรีมกับความสุขให้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยไอศกรีมวอลล์เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 35 ปี และมี 'พี่สามล้อวอลล์' เป็นกำลังสำคัญในการกระจายความสุขพร้อมทั้งมอบรอยยิ้มผ่านไอศกรีมแสนอร่อยให้แก่ผู้บริโภคทุกชุมชน โดยในแต่ละปี วอลล์ได้สร้างงานกว่า 3,000 ตำแหน่งในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2567 นี้ เราวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนตัวแทนส่งความสุขควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเปราะบางไม่น้อยกว่า 600 คนทั่วประเทศ ให้ได้เรียนรู้ทักษะจำเป็นต่าง ๆ ของการจำหน่ายไอศกรีม ที่สำคัญ ยังเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ว่างงานให้มีอาชีพและสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ดีจากวอลล์อีกด้วย"
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า "กระทรวง พม. ทำงานร่วมกับภาคเอกชนเชิงรุกในการดูแลพี่น้องประชาชนกว่า 60 ล้านคนในประเทศไทย เราได้ร่วมกับยูนิลีเวอร์ เปิดรับสมัคร 'พี่สามล้อวอลล์' 600 อัตรา เพื่อเป็นตัวแทนส่งมอบรอยยิ้มและความสุขผ่านไอศกรีมวอลล์ ด้วยการสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ที่สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ อีกทั้งสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน เพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงขอขอบคุณกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตและการมีสุขภาพอนามัยที่ดี สร้างความเท่าเทียมควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เชื่อว่าโครงการดีๆ แบบนี้จะได้รับการสานต่อไป"
โครงการ "พี่สามล้อวอลล์" แบ่งออกเป็น 2 ระยะตลอดทั้งปี พ.ศ. 2567 โดยระยะแรกจะเปิดรับสมัครตัวแทนส่งมอบความสุขจำนวน 300 ตำแหน่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และจะรับสมัครอีก 300 ตำแหน่งจากภาคอื่น ๆ ในระยะที่สองตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม รวมทั้งสิ้น 600 ตำแหน่ง โดยผู้สมัครจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศและวุฒิการศึกษา นอกจากนั้น "พี่สามล้อวอลล์" ยังจะได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุคุ้มครองกรณีทุพพลภาพ ทุนการศึกษาบุตร พร้อมอุปกรณ์การขาย ยูนิฟอร์ม และรถสามล้อวอลล์ฟรี
"ขอขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับยูนิลีเวอร์ในโครงการ 'พี่สามล้อวอลล์' เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย โดยวอลล์จะยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและผู้คนทั่วประเทศผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ส่งต่อรอยยิ้มและมอบความสุขที่ยั่งยืนให้กับทุกคนต่อไป" นายอะบิจิต กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ยูนิลีเวอร์ได้จับมือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อวางแผนจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับภารกิจและกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ และในปี พ.ศ. 2566 ได้จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และกลุ่มผู้สูงอายุ ภายใต้การสนับสนุนของแบรนด์ต่าง ๆ จากยูนิลีเวอร์ โดยได้มอบผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคจำนวน 66,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 3.5 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ และล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 โครงการ "พี่สามล้อวอลล์" ได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการรับสมัครรวมทั้งคัดกรองคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ
สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีความสนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง