นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากการจราจรและการขนส่งว่า สจส.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมธุรกิจพลังงาน เป็นต้น ในการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงาน ภายใต้ 16 แนวทาง ประกอบด้วย
(1) วิจัยหาต้นเหตุ (2) นักสืบฝุ่น (3) การตรวจโรงงาน (4) การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้แก่กลุ่มเปราะบาง (5) การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 (6) Open Data (7) การตรวจสถานที่ก่อสร้างและการตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง (8) การใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ (9) การส่งเสริมรถราชการในสังกัด กทม.เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (10) การตรวจวัดรถควันดำในสถานที่ก่อสร้างบนถนนและสถานที่ต้นทาง (11) การแจ้งปัญหาฝุ่นผ่านระบบ Traffy Fondue (12) การพัฒนาผู้ประกอบการ (13) การทำกิจกรรมของสำนักงานเขต (14) การตรวจวัดควันดำรถราชการในสังกัด กทม. (15) การขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด และ (16) การจัดทำ BKK Clean Air Area โดยในระยะเร่งด่วนได้ตรวจวัดควันดำรถประจำการของ สจส.ทุกคัน วางแนวทางให้เปลี่ยนรถในสังกัดเป็นรถพลังงานไฟฟ้า จัดบริการรถเวียนพลังงานไฟฟ้า (BMA Shuttle Bus Feeder) รวมทั้งวางแผนติดตั้งจุดชาร์จสำหรับรถพลังงานไฟฟ้า (EV-Charging Station) ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ และสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ อาทิ การเพิ่มจุดจอดรถจักรยานส่วนบุคคล และส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานสาธารณะ (Bike Sharing)
นอกจากนี้ สจส.ได้เปิดใช้ระบบเทคโนโลยีบริหารจัดการระบบการจราจร เพื่อลดความติดขัดบนถนนและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางด้วยระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (Area Traffic Control : ATC) โดยนำร่องในพื้นที่ถนนสายหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ รวม 13 ทางแยก จากการดำเนินงานในเบื้องต้นพบว่า สามารถลดความล่าช้าในการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลงถึงร้อยละ 10 สำหรับการเพิ่มความคล่องตัวการเดินทางอย่างยั่งยืน สจส.ได้วางแผนนำระบบการบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) มาใช้ควบคุมระบบสัญญาณไฟจราจรทั้งโครงข่ายให้สอดคล้องกับสภาพจราจรที่เกิดขึ้นจริงขณะนั้น ด้วยการใช้กล้อง CCTV ตรวจจับข้อมูลการจราจร ทั้งปริมาณรถ ความเร็วของรถ และประเภทของยานพาหนะ ผ่านกระบวนการทำงานของระบบเทคโนโลยี ได้แก่ (1) รวบรวมข้อมูล (2) วิเคราะห์ข้อมูล (3) ตรวจสอบความผิดปกติบนถนน (4) ควบคุมสัญญาณไฟจราจร (5) จัดการการไหลในระบบจราจร และ (6) รายงานข้อมูลจราจร หรือแจ้งเตือนเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน สจส.ได้รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ควบคู่กับการส่งเสริมให้เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะและเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมทั้งพัฒนาทางเดินเท้าและเส้นทางการใช้รถจักรยานให้สะดวกปลอดภัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย