เร้ดแฮทคาดการณ์แนวโน้มทางเทคโนโลยีปี 2567 ในเอเชียแปซิฟิก

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday January 9, 2024 17:13 —ThaiPR.net

เร้ดแฮทคาดการณ์แนวโน้มทางเทคโนโลยีปี 2567 ในเอเชียแปซิฟิก

บทความโดยคุณสุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทย เร้ดแฮท

ปี 2566 เป็นปีแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลากหลาย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ChatGPT ที่เป็นหัวข้อสนทนากันทั่วโลก ความล้ำหน้าหล่านี้ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นโอกาสที่องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ สามารถใช้เพื่อปลดล็อกความเป็นไปได้มากมายที่เทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้นำมาให้

โอเพ่นซอร์สจะมีบทบาทอย่างไรในปี 2567 และองค์กรจะสามารถเตรียมตัวให้พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร เร้ดแฮทคาดการณ์แนวโน้มสำคัญสามประการที่อาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567

1 ก้าวไกลเกินกว่าการใช้คลาวด์

ในอดีตองค์กรต่างพบว่าการดึงคุณประโยชน์จากข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (unstructured data) มาสร้างมูลค่าให้องค์กรเป็นเรื่องยาก แต่ความล้ำหน้าด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และล่าสุดคือความสามารถของ generative AI (gen AI) ที่สามารถนำเข้าและวิเคราะห์ unstructured data ช่วยให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนได้มากขึ้น และเกิดความต้องการข้อมูลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้การจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดบนคลาวด์อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกต่อไป

ธุรกิจสามารถสร้าง "ความได้เปรียบ" ได้โดยการผสานรวมเอดจ์คอมพิวติ้งเข้ากับกลยุทธ์คลาวด์ขององค์กร รวมถึงจัดการงบประมาณและเวิร์กโหลดต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เอดจ์คอมพิวติ้งจะยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิก โดยคาดว่าจะเติบโตจาก 43.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 เป็น 81 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570[1]

ในปี 2567 เราจะได้เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ ยังคงหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นการใช้การประมวลผลแบบไม่ใช้เซิร์ฟเวอร์ (serverless computing) เรายังจะได้เห็นว่าโซลูชันโอเพ่นซอร์สสามารถช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ปรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ใช้อยู่ให้สอดคล้องและตรงตามความต้องการเฉพาะของแต่ละองค์กร เพื่อให้การปรับใช้ประสบความสำเร็จในระดับสูงขึ้นและสามารถควบคุมได้มากขึ้น

2.AI ขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เร้ดแฮทเชื่อว่า AI จะยังคงเป็นสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญในปี 2567 เนื่องจาก AI เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท และส่งผลกระทบต่อสังคมในรูปแบบที่เราเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใจ ทั้งยังจุดประกายให้เกิดเครื่องมือใหม่ ๆ นอกเหนือจากโมเดลพื้นฐานต่าง ๆ ในบริบทนี้โอเพ่นซอร์สเป็นโซลูชันที่สามารถรองรับแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วย gen AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการช่วยให้ผู้นำธุรกิจรับมือกับทุกย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลงด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีสเกลขนาดใดก็ตาม

ปี 2566 เป็นปีที่มีผู้มีส่วนร่วมในโอเพ่นซอร์สเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นครั้งแรกบน GitHub[2] โดยมีชุมชนนักพัฒนาในเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างอินเดียที่เป็นผู้นำในภูมิภาคด้วยจำนวนนักพัฒนามากกว่า 13.2 ล้านคน ซึ่งเติบโตมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้เพียงแค่ครึ่งทางของปี 2566 ก็มีโปรเจกต์เกี่ยวกับ generative AI เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2565

การที่องค์กรมุ่งหวังว่า AI จะช่วยแก้ไขความท้าทายสำคัญ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสถานที่ทำงานได้นั้น องค์กรจำเป็นต้องมั่นใจว่า AI ที่จะนำมาใช้นั้นจะต้องครอบคลุมเรื่องการเข้าถึงเพื่อใช้งาน ทักษะ และความรู้ ทั้งนี้ผู้นำธุรกิจต้องทำเป็นตัวอย่าง และนำทางองค์กรให้เดินตามแนวทางการทำงานที่พร้อมสำหรับอนาคต ให้สามารถปรับตัวและเติบโตอย่างรุ่งเรืองต่อไปได้

3 ความปลอดภัยยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ

ChatGPT เป็นตัวนำให้ gen AI เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับความสนใจมาก ทั้งยังเปลี่ยนวิธีคิดของคนเกี่ยวกับ AI และเกิดการนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเวิร์กโฟลว์ทางธุรกิจและการใช้ทรัพยากร ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีเรื่องน่ากังวลเช่นกัน ข้อมูลจากรายงาน Red Hat 2023 Global Tech Outlook ระบุว่า ผู้นำด้านไอทีได้ให้ความเห็นว่าความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกของเป้าหมายการจัดหาเงินทุน (funding priority) โดยเฉพาะปัจจุบันที่เป็นยุคของข้อมูลความรู้ และเมื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยจึงมีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงคาดได้ว่าจะได้เห็นการตรวจสอบซอฟต์แวร์และการใช้คอมโพเน้นท์ต่าง ๆ มากขึ้น ในลักษณะเดียวกับชุมชนโอเพ่นซอร์สที่มีการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง เช่น อาจออกมาในรูปแบบของเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการทดสอบด้านความปลอดภัยโดยอัตโนมัติ เพื่อระบุช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของกระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นี้อาจส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงานของนักพัฒนา โดยเมื่อจะออกแบบหรือพัฒนาอะไรก็ตามจะต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจ

เร้ดแฮทคาดว่าการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องนี้ จะทำให้องค์กรเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการข้อมูล และเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดจากข้อมูลที่องค์กรมีอยู่ องค์กรต้องมั่นใจว่าข้อมูลของตนถูกต้อง มีอยู่ในเวลาที่เหมาะสมและทันต่อการใช้งาน องค์กรจำนวนมากจะให้ความสำคัญกับที่มาของข้อมูลมากขึ้น โดยจะต้องสามารถมองเห็นภาพรวมของแหล่งที่มา ความสมบูรณ์ และความเชื่อถือได้ของข้อมูลของตน

[1] Source: https://www.idc.com/getdoc.jsp?containerId=prAP51260523 

[2] Source: https://github.blog/2023-11-08-the-state-of-open-source-and-ai/ 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ